สอน.ไฟเขียวตั้ง 6 รง.นํ้าตาล ประเดิมล็อตแรกลงทุน 3 หมื่นล้านให้สิทธิ์60 วันต้องคืบหน้า

09 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
สอน.อนุมัติตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแล้ว 6 แห่ง หลังไม่เปิดให้ใบอนุญาตมาร่วม 26 ปี แต่ให้ผู้ประกอบการเซ็นรับทราบเงื่อนไขต้องลงทุนจริงภายใน 60 วัน ทำไม่ได้ยึดใบอนุญาตคืน เปิดโอกาสให้รายอื่นเสียบแทน คาดเงินลงทุนสะพัด 3 หมื่นล้านบาท อ้อยเข้าหีบได้ 14.4 ล้านตันต่อปี ขณะที่ล็อต 2 จ่ออนุมัติอีก 6 โรง รอเพียงการพิสูจน์แผนส่งเสริมการปลูกอ้อย

[caption id="attachment_25265" align="aligncenter" width="600"] โรงงานน้ำตาลทรายที่ได้รับอนุญาตตั้งโรงงานใหม่ โรงงานน้ำตาลทรายที่ได้รับอนุญาตตั้งโรงงานใหม่[/caption]

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกมติครม. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 ที่ไม่อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่ม และได้ออกมติใหม่ให้สามารถตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรได้นั้น โดยสอน.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล ยื่นเรื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลฉบับใหม่

ทั้งนี้ มีผู้สนใจยื่นเข้ามาจำนวน 30 คำขอ และสอน.ได้พิจารณาและสามารถออกใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือให้ย้ายโรงงานน้ำตาลในเบื้องต้นได้แล้วจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ในจังหวัดอำนาจเจริญ โรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง จังหวัด ร้อยเอ็ด โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โรงงานน้ำตาลมิตรผล จังหวัด ชัยภูมิ โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลปราณบุรี จังหวัด เพชรบุรี และโรงงานน้ำตาลมิตร จังหวัดร้อยเอ็ด โดยแต่ละโรงานมีกำลังการผลิตแห่งละ 2 หมื่นตันต่อวัน หากรวมกำลังหีบอ้อยทั้งหมดจะตก 14.4 ล้านตันอ้อยต่อปี ซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวมกันประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ในข่ายจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตอีก 6 โรงงาน ซึ่งสอน.กำลังอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ปริมาณอ้อย ตามแผนการส่งเสริมการปลูกอ้อย และอีกส่วนอยู่ระหว่างการหาข้อยุติในขั้นตอนของกฎหมาย หลังจากที่มีผู้ประกอบการบางรายยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีที่บริษัท นํ้าตาลไทยเอกลักษณ์ฯ ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่นำเรื่องขอย้ายโรงงานนํ้าตาล เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

สำหรับการพิจารณาให้ใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ที่จะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร และจะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตในฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และไม่ใช่อ้อยของเกษตรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก และกำหนดให้โรงงานที่ได้ใบอนุญาตไปแล้วจะต้องเปิดดำเนินการหีบอ้อยได้ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากที่ได้ใบอนุญาตตั้งโรงงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทรายดังกล่าว ทางสอน.ได้ให้ผู้ประกอบการมาลงนามรับทราบในเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติภายในระยะเวลา 60 วันนับจากวันประกาศ เพื่อให้ผู้ประกอบการเร่งรัดการลงทุน หรือมีความเคลื่อนไหวที่จะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ การทำแผนส่งเสริมการปลูกอ้อย ที่จะต้องเร่งดำเนินการภายใน 1 ปีแรกควบคู่กับการทำอีไอเอ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันให้ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว ไม่สนใจที่จะลงทุน แต่เพื่อเป็นการกันสิทธิ์โรงงานอื่น ทำให้ผู้ประกอบรายอื่นและชาวไร่อ้อยเสียโอกาสในการสร้างรายได้ ที่สำคัญจะทำให้ยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 11 ปี ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10.53 ล้านไร่ ในปี 2558 เพิ่มเป็น 16 ล้านไร่ ภายในปี 2569 ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยจาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้จาก 11.34 ล้านตัน เป็น 20.36 ล้านตัน

ดังนั้น ในช่วงระยะเวลา 60 วันนี้ ทางสอน.จะลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบการ หากเห็นว่าโรงงานน้ำตาลไม่มีความเคลื่อนไหว ก็จะทำการยกเลิกใบอนุญาตทันที และเปิดให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการายใหม่ที่ยังเข้าคิวรออยู่แทน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559