พีอีเอยึดใบอนุญาตขายไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแล้ว 20 รายกำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ จ่อยึดอีกแน่ 9 ราย กำลังการผลิตรวม28.2 เมกะวัตต์ เหตุโครงการไม่คืบ เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการอีกครั้งภายในเดือนมกราคมนี้ ก่อนเข้าบอร์ดพิจารณาตัดสินใจยื้อ-ไม่ยื้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้า พร้อมเร่งเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ 5 เมกะวัตต์ที่อยุธยา เดินเครื่องปลายปี 2560
[caption id="attachment_25769" align="aligncenter" width="356"]
เลิศชาย แก้ววิเชียร[/caption]
นายเลิศชาย แก้ววิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่พีอีเอได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) แล้ว แต่ยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนดได้นั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มโดยกลุ่มแรก ได้ทำการยกเลิกสัญญาไปแล้วทั้งสิ้น 20 ราย กำลังการผลิตรวม 50.69 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์
กลุ่มที่ 2 มีจำนวน 11 ราย กำลังการผลิตรวม 16.14 เมกะวัตต์ ซึ่งถูกเรียกค่าปรับครบ 12 เดือนแล้ว ซึ่งทางพีอีเอมีหนังสือส่งไปยังผู้ประกอบการให้เร่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ โดยได้ส่งหนังสือไปตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา สาเหตุที่ล่าช้าส่วนใหญ่มาจากการรอใบอนุญาตต่างๆ หากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ก็ต้องมีการพิจารณาความคืบหน้าเป็นรายโครงการต่อไป
กลุ่มที่ 3 มีจำนวน 6 ราย กำลังการผลิตรวม 9.82 เมกะวัตต์ โดยกลุ่มนี้ถูกปรับครบ 12 เดือนแล้วเช่นกัน แต่การลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าในจำนวนนี้มี 3 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1.5 เมกะวัตต์ ยังไม่มีการก่อสร้างโครงการ ดังนั้นอาจพิจารณาเพื่อยกเลิกสัญญาดังกล่าว ส่วนอีก 3 ราย ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งทางพีอีเอก็ส่งหนังสือเพื่อเร่งให้ผู้ประกอบการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่รับหนังสือเช่นกันสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เกิน SCOD แต่ยังถูกเรียกปรับไม่ครบ 12 เดือน แบ่งเป็น กลุ่มแรกจำนวน 8 ราย กำลังการผลิตรวม 20.98 เมกะวัตต์ เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ,กลุ่มที่ 2 มี 2 ราย กำลังการผลิตรวม 4.4 เมกะวัตต์ ก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว แต่ยังไม่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเพราะยังรอใบอนุญาต, กลุ่มที่ 3 มีจำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิตรวม 37.8 เมกะวัตต์ ที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการ หากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนดก็จะทยอยหักเงินค้ำประกัน และกลุ่มที่ 4 จำนวน 6 ราย กำลังการผลิตรวม 26.7 เมกะวัตต์ ยังไม่มีความคืบหน้าโครงการ โดยในกลุ่มนี้ทางพีอีเอคงต้องเข้าไปดูข้อเท็จจริง หากไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมก็คงต้องยกเลิกสัญญาต่อไป
"ขณะนี้โครงการที่ต้องจับตาเป็นพิเศษจะมีอยู่ 9 ราย กำลังการผลิตรวม 28.2 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่มีความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการและมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนดได้ อาจจะต้องยึดใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าต่อไป"
อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานของพีอีเอจะลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีกครั้ง จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการฯพิจารณาเพื่อยกเลิกสัญญาในบางโครงการเพิ่มเติมภายในเดือนมกราคม 2559 ซึ่งจะส่งผลสรุปดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ต่อไป
นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางพีอีเออยู่ระหว่างตรวจสอบความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาขายไฟฟ้ากับทางพีอีเอ เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือยกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการแล้วบางส่วน หากโครงการใดที่มีความคืบหน้าบ้างแล้วก็ต้องพิจารณาเป็นรายโครงการว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนดได้หรือไม่ หากไม่มีความคืบหน้าคงต้องยกเลิกสัญญาเช่นกัน
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะต้นแบบ 5 เมกะวัตต์ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา มูลค่า 990 ล้านบาท ซึ่งลงทุนผ่านบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทในเครือพีอีเอ หลังจากรับความเห็นชอบจากทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปจะเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1.5 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2560
โดยโครงการโรงไฟฟ้าขยะต้นแบบดังกล่าว มีความต้องการใช้ขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าประมาณ 300 ตันต่อวัน โดยขยะจะมาจาก อ.เมือง และอำเภอใกล้เคียง ประกอบกับมีขยะเก่าที่ถูกย้ายมาจากบ่อขยะที่ อ.เมือง มายัง อ.บางบาล จำนวน 2 พันตัน เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า และในอนาคตอาจมีการขยายโครงการในอนาคตแต่ต้องการให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะต้นแบบดังกล่าวแล้วเสร็จก่อน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559