ครม.ไฟเขียวตั้งบอร์ดการยางฯกู้วิกฤติราคาตกต่ำ พร้อมจัดข้าวถุง สินค้าอุปโภค-บริโภคจำเป็นบรรเทาความเดือดร้อน อนุมัติกรอบซื้อยางตรงจากเกษตรกร 2 แสนตัน วงเงิน 1.2 หมื่นล้าน "ประยุทธ์"จี้บอร์ดเร่งแก้ปัญหาด่วน! อคส.รับลูกหารือ 8 กระทรวงซื้อประเดิม 1 แสนตันในราคาชี้นำตลาด ผู้ค้ายางเตือนระวังไม่ถึงมือเกษตรกร แฉจีนลวงข่าวสต๊อกบานหวังกดราคาซื้อ บอร์ดยางเร่งแก้ 3 เรื่องใหญ่
ผลจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่อง ล่าสุดผลจากการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนายางพารา ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน(11 ม.ค.59) ได้มีมติจะนำ 15 โครงการภายใต้แนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบมาทบทวนเพื่อดันราคา ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้องค์การคลังสินค้า (อคส.)เข้ารับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในราคานำตลาด โดยไม่รับซื้อที่ 60 บาทกิโลกรัมตามที่มีผู้เสนอเพราะไม่มีเงินและต้องอุ้มไปตลอดนั้น
อนุมัติตั้งบอร์ดการยางฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 12 มกราคม 2559 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับยางพาราที่ประชุมได้ มีมติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด กยท. จำนวน 8 คน ดังนี้
1.พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานกรรมการ2.นายประสิทธิ์ หมีดเส็น ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง 3.นายสังข์เวิน ทวดห้อย ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง4.นายเสนี จิตตเกษม ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง 5.นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 6.นายสาย อิ่นคำ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 7.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้ประกอบกิจการยางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้า และ8.นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุตสาหกรรมยาง
นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอเพื่อให้รับทราบถึงปริมาณความต้องการใช้ยางพาราและวงเงินงบประมาณส่วนราชการ และให้ส่วนราชการพิจารณาทบทวนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในวัสดุ ครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยคำนึงถึงคุณลักษณะเฉพาะที่มีความเหมาะสมด้านเทคนิค และส่งให้สำนักงบประมาณรวมรวมเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป อีกทั้งได้ได้มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยให้มีโครงการข้าวสารบรรจุถุงคุณภาพดีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพโดยเป็นข้าวสารเจ้า 5% ขนาด 5 กิโลกรัม จำนวน 8.02 แสนครัวเรือนจำนวน 4.01 ล้านถุง รวมถึงการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช ไข่ไก่ น้ำตาลทรายในราคาต่ำกว่าตลาด 20-40% ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้
เสนอซื้อ2แสนตันงบ1.2หมื่นล.
ขณะเดียวกัน ครม.ยังได้อนุมัติกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยางพาราเป็นกรณีเร่งด่วนตามที่พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รองประธานกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้เสนอ สาระสำคัญ คือ ผู้ได้รับประโยชน์จะต้องเป็นเกษตรกรยางพาราที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพร่วมกับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ตรวจสอบคัดกรองเกษตรกรยางพาราที่จะให้ความช่วยเหลือให้ชัดเจน
ขณะที่ราคารับซื้อที่เหมาะสมครั้งนี้ไม่ควรเกินกิโลกรัมละ 60 บาท หรือตันละ 6 หมื่นบาท สำหรับในช่วงฤดูก่อนการปิดกรีด สามารถประมาณการผลผลิตยางในตลาดได้ประมาณ 6-8 แสนตัน ในเบื้องต้นเห็นสมควรรับซื้อในปริมาณ 2 แสนตัน ใช้วงเงินรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมเป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการช่วยเหลือในกรณีเร่งด่วน
ประยุทธ์จี้เร่งแก้วิกฤติด่วน!
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อตั้งคณะกรรมการหรือบอร์ด กยท.ได้แล้วได้สั่งการให้ไปแก้ไขปัญหามาให้ได้ โดยที่รัฐบาลจะลงไปรับซื้อยางพาราโดยตรงจากเกษตร ไม่ใช่ไปซื้อจากสหกรณ์ ซึ่งการรับซื้อดังกล่าวจะรับซื้อตามราคาที่ให้เกษตรกรอยู่ได้ เมื่อได้ยางมาแล้วก็จะนำไปใช้ไม่ใช่นำไปเก็บไว้ในคลังเหมือนเดิม ส่วนการดำเนินการอื่นๆ ก็จะต้องการแก้กฎหมาย กฎระเบียบในด้านงบประมาณเพื่อให้แต่ละหน่วยงานลงไปรับซื้อได้ และทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับธุรกิจเอสเอ็มอี และทำให้เกิดการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น
3เรื่องด่วนบอร์ดการยาง
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย หนึ่งในผู้ได้รับการแต่งตั้งให้บอร์ด กยท.ในส่วนของผู้ประกอบกิจการยางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้า กล่าวว่า จะต้องมีการประชุมหารือกับบอร์ดคนอื่นๆ ก่อนแล้วค่อยนำผลสรุปของแต่ละกรรมการที่นั่งอยู่ในบอร์ด มาปรึกษาหารือเพื่อให้มีการขับเคลื่อนยางอย่างเป็นระบบ
สอดรับกับนายสังเวิน ทวดห้อย บอร์ดในส่วนของผู้แทนเกษตรกร กล่าวถึงภารกิจเร่งด่วนของกยท.หลังจากนี้มี 3 เรื่องเร่งด่วน 1. เปิดให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 1 ล้านครัวเรือนให้ขึ้นทะเบียนสมาชิกได้ 2. สนับสนุนสถาบันองค์กรที่เข้มแข็ง ตามพ.ร.บ.มาตรา 49 (3) สนับสนุนเงินกู้สร้างความเข้มแข็ง และ 3. เร่งรัดสวัสดิการชาวสวนยาง ตามมาตรา 41 (5) จะต้องร่างระเบียบช่วยเหลือชาวสวนยางที่ราคาตกต่ำ อาทิ ทุนการศึกษาบุตร เป็นต้น
อคส. เตรียมโมเดลใหม่ซื้อยาง
พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทาง อคส. น้อมรับนโยบายรัฐบาลให้ทำหน้าที่เป็นคนกลางรับซื้อยางพาราจากเกษตรกร โยในวันที่ 13 มกราคมได้เชิญผู้แทนจาก 8 กระทรวงมาหารือความต้องการใช้ยางพารา จำนวน 1 แสนตันว่าจะนำไปใช้ในรูปแบบไหนบ้าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีความต้องการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ยางพาราแตกต่างกันไป หลังจากนั้นจะลงพื้นที่ไปหาเกษตรกรเพื่อซื้อยางตามความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ส่วนวงเงินและแหล่งที่มาจะต้องประเมินและดำเนินการตามมติครม.ทั้งนี้การซื้อยางที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้จะเป็นรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากในอดีต ส่วนวิธีการดำเนินงานขอเป็นความลับไว้ก่อน อย่างไรก็ดีเชื่อว่าการรับซื้อยางในครั้งนี้จะช่วยให้ราคายางในประเทศค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
แฉจีนลวงสต๊อกอื้อหวังกดราคา
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานชุมนุมสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนายางพารา ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ( 11 ม.ค.59)ว่า ได้มีการเปิดข้อมูลลับของเมืองชิงเต่า ศูนย์กลางซื้อขายยางพาราของจีนจากทั่วโลก ว่าความจริงแล้วสต๊อกของจีน ณ ปัจจุบันมีเพียง 1.6 แสนตัน แต่ที่ผ่านมาได้สร้างข่าวว่ามีสต๊อกล้านตัน เพื่อหวังกดราคารับซื้อยาง เชื่อว่าการกระทำแบบนี้เอื้อกับผู้ประกอบการรายใหญ่และชิโนเคม คู่สัญญาใหม่ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
อย่างไรก็ตามคาดว่าทาง กยท.จะดำเนินการซื้อยางป้อนคู่สัญญาในเร็ว ๆ นี้ โดยหวังจะกดราคารับซื้อให้ต่ำที่สุด ขณะมติที่ประชุมให้มีการซื้อยางในราคาชี้นำตลาด 1-2 บาทต่อกิโลกรัมนั้นมองว่าเป็นสัญญาณบวก และเดินมาถูกทางแล้ว ส่วนจะซื้อแล้วไปไหน ส่งให้ชิโนเคมหรือจะให้กับ 8 กระทรวงที่จะรับซื้อยาง ไม่สนใจ ขอให้รีบซื้อทันทีเร็วที่สุด เพราะวันนี้ยางพาราคาดว่าจะมีปริมาณเหลือ 1-2 เดือนนับจากนี้ปริมาณ 7-8 แสนตันเท่านั้นก็จะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบแล้ว
"การรับซื้อยางชี้นำตลาดของ อคส.ที่จะเกิดขึ้นมองว่าจะแตกต่างจาก โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน รักษาเสถียรภาพราคายางหรือบัฟเฟอร์ ฟันด์ เพราะของเดิมราคาในโครงการฯ รับซื้อยางขายต่างกัน กับตลาดซื้อขายจริงถึง 10-11 บาท ขณะนั้นใครก็อยากจะขายให้กับรัฐบาลจึงทำให้ไม่ถึงมือเกษตรกรรายย่อย แต่ครั้งนี้ซื้อชี้นำเพียง 1-2 บาท ใครอยากมาก็มาไม่ปิดกั้น คาดว่าจะใช้ 108 ตลาดของ กยท.และตลาดกลางยางพารา ของสถาบันวิจัยยาง ทั้ง 6 แห่งใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อขายยาง ต่อไปการขับเคลื่อนยางพาราทั้งระบบในอนาคตจะมีบอร์ดแล้ว เชื่อว่าราคายางจะดีกว่านี้ ส่วนผู้ว่าการยางฯ ยังไม่มีไม่เป็นไร"
หนุนอคส.ซื้อยาง กยท.ยังวุ่น
นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า สาเหตุที่ให้ อคส.รับซื้อยางแทน กยท. เป็นเรื่องที่ไม่แปลกใจ เพราะ อคส. ดำเนินธุรกิจซื้อมาขายไปอยู่แล้ว ส่วน กยท.กำลังดำเนินการหลายเรื่องใน 15 มาตรการโครงการที่ออกไปจะต้องช่วยกันขับเคลื่อน ดังนั้นการมาของ อคส. เป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยแก้ปัญหารายางได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ดีจากการที่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วนายเพิก เลิศวังพง ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชยสท.) ได้นำคณะตัวแทนของ 2 รัฐวิสาหกิจจีนเข้ามาพบและจะมาช่วยซื้อยางโดยตรงกับเกษตรกร มองว่ากระทำได้ทันทีเลย แต่เห็นว่าเรื่องนี้เงียบไปแล้ว อยากให้ติดต่อมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง (อ่านบทสัมภาษณ์ในหน้า 6)
หวั่นไม่ถึงมือเกษตรกร
ขณะที่นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง สถานการณ์ราคาน้ำยางสด ณ ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 34 บาท ราคาปรับขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่กิโลกรัมละ 28 บาท หรือขึ้นมา 6 บาท จากภัยแล้ง ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ยิ่งใกล้ยางเข้าสู่ฤดูผลัดใบ ผู้ประกอบการช่วงนี้จะแย่งซื้อมากกว่าที่จะกดราคา เป็นไปตามดีมานด์-ซัพพลาย ยืนยันว่าไม่มีใครกดราคา ส่วนการรับซื้อยางโดยให้ อคส.รับซื้อเกรงว่าจะซ้ำรอยโครงการเดิม (โครงการมูลภัณฑ์ฯ)ที่ไม่ถึงมือเกษตรกร เนื่องจากมีพ่อค้าคนกลางหลายช่วง รับซื้อ เกรงว่าจะเอื้อคนบางกลุ่มเท่านั้น หรือถ้าได้จะตกมือถือเกษตรกรจริงๆ สักกี่บาท
มติเห็นชอบเพิ่มเติม
นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 มกราคม 2559 เป็นคำสั่งเพิ่มเติม จากมติอนุมัติหลักการแนวทางพัฒนายางทั้งระบบ 16 โครงการเดิมที่ผ่านการอนุมัติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 (ล่าสุดเหลือ 15 โครงการจากมี 1 โครงการคือการบริหารจัดการสต๊อกยางของรัฐได้ถูกยกเลิกไปตามมติ ครม.) เพื่อให้ทุกหน่วยงานแก้ปัญหาราคายางอย่างเป็นระบบ เป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละมาตรการให้เร่งรัดดำเนินการหรือปรับปรุงเงื่อนไขให้กลไกการทำงานต่างๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศถึง 3 แสนตัน/ปี ที่ติดเงื่อนไขการขอสินเชื่อของธนาคารออมสินก็ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขของสถาบันการเงินให้เป็นธนาคารพาณิชย์เข้ามาดำเนินการแทน รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ด้วยจะต้องกระชับพื้นที่อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญนายกรัฐมนตรีลงมาเต็มตัวแล้ว เชื่อว่าราคางยางจะมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการรับซื้อยางนั้น วันนี้ ( 12 ม.ค.59) ประธานบอร์ด อคส.ได้ลงพื้นที่โรงงานยางพาราเรียบร้อยแล้ว ที่จังหวัดตรัง คาดว่าจะมีการรับซื้อยางในเร็วๆ นี้
คมนาคมซื้อน้ำยางดิบกว่า2หมื่นตัน
ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ 8 กระทรวง รวบรวมความต้องการใช้ยางส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก่อนเสนอครม.อนุมัติ ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.ได้รับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอความต้องการใช้ยางพาราและวงเงินที่จะนำไปใช้ดำเนินโครงการ พร้อมทั้งยังมอบให้แต่ละหน่วยไปพิจารณาทบทวนการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในวัสดุครุภัณฑ์สิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะที่มีความเหมาะสมทางด้านเทคนิค โดยให้นำส่งสำนักงบประมาณเพื่อนำเสนอสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายใน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาความเหมาะสมการจัดทำราคามาตรฐานวัสดุครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างที่มียางพาราเป็นส่วนผสม ในราคาที่รัฐบาลจะรับซื้อตามคุณภาพของยางพารา และให้สำนักงบประมาณจัดหางบประมาณเพิ่มเติมให้ส่วนราชการเพื่อชดเชยส่วนต่างราคาในการรับซื้อยางพาราดังกล่าว
"ครม.รับทราบว่ามีความต้องการใช้จำนวนเท่าไหร่ ตลอดจนความต้องการวงเงินงบประมาณ อีกทั้งยังให้กลับไปพิจารณาว่ามีแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราได้อย่างไร ตลอดจนสำนักงบประมาณไปพิจารณาในเรื่องราคามาตรฐานวัสดุต่างๆที่มียางเป็นส่วนผสม"
สำหรับหน่วยงานกระทรวงคมนาคมนั้นเบื้องต้นพบว่ามี 2 หน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ยางพาราไปใช้งาน ได้แก่ กรมทางหลวง(ทล.)และกรมทางหลวงชนบท(ทช.) โดยในปี2559 จะใช้ยางทั้งสิ้นกว่า 1.9 หมื่นตัน ประเภทน้ำยางดิบ ทั้งใช้เพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษาทาง โดยใช้งบจากงบประมาณปกติไปดำเนินการนอกจากนั้นยังได้พิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องของวงเงินที่จะใช้เพิ่มเติมในกรณีที่มีงบเหลือจ่ายของปี2559 โดยจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางได้อีก 1,386 ตัน ดังนั้นจึงรวมเป็นปริมาณการใช้ยางทั้งสิ้นกว่า 2 หมื่นตันในปีนี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559