สอน.อนุมัติตั้งอีก 6 โรงงานน้ำตาล รวมแล้วไฟเขียว 12 แห่งเงินลงทุน6หมื่นล้านเหลือ 1 รายจ่อคลอด

11 ก.พ. 2559 | 07:00 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2559 | 12:41 น.
สอน.ปล่อยใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 6 ราย รวมกำลังผลิต 14.76 ล้านตันต่อปี รวมที่อนุมัติแล้ว 12 ราย กำลังผลิต 29.16 ล้านตันต่อปี มูลค่าเงินลงทุนรวม 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ไทยเอกลักษณ์ จ่อไฟเขียว หากได้ข้อยุติจากศาล ด้านน้ำตาลครบุรีเดินหน้าทำอีไอเอ ผุดคอมเพล็กซ์ มูลค่าลงทุน 7 พันล้านบาทรองรับโรงงานน้ำตาลใหม่

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่สอน.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล ยื่นเรื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลฉบับใหม่ ซึ่งได้มีผู้สนใจยื่นคำขอเข้ามา 30 คำขอ โดยได้พิจารณาออกใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือให้ย้ายโรงงานน้ำตาลในเบื้องต้นได้แล้วจำนวน 6 แห่ง(ดูตารางประกอบ) เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสอน.ได้พิจารณาอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลครบุรี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีกำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน บริษัท เรโนไทย อินตัสทรี้ จำกัด อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว กำลังผลิต 1.5 หมื่นตันต่อวัน โรงงานน้ำตาลสุรินทร์ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ กำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ กำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน โรงงานน้ำตาลมิตรผล อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น กำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังผลิต 2.8 หมื่นตันต่อวัน รวมกำลังผลิต 1.23 แสนตันต่อวัน ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมการอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่ง รวมกำลังผลิต 2.43 แสนตันต่อวันหรือประมาณ 29.16 ล้านตันต่อปี ก่อให้เกิดเงินลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาท

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทรายดังกล่าว ทางสอน.ได้ให้ผู้ประกอบการมาลงนามรับทราบในเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติภายในระยะเวลา 60 วันนับจากวันประกาศ เพื่อให้ผู้ประกอบการเร่งรัดการลงทุน หรือมีความเคลื่อนไหวที่จะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ การทำแผนส่งเสริมการปลูกอ้อย ที่จะต้องเร่งดำเนินการภายใน 1 ปีแรกควบคู่กับการทำอีไอเอ เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันให้ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว ไม่สนใจที่จะลงทุนหรือนำไปดองไว้ เพื่อเป็นการกันสิทธิ์โรงงานอื่น ทำให้ผู้ประกอบรายอื่นและชาวไร่อ้อยเสียโอกาสในการสร้างรายได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ในข่ายจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตอีก 1 โรงงาน ของโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่จะย้ายมาตั้งในจังหวัดสุโขทัย กำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งได้มีการฟ้องร้องกระทรวงอุตสาหกรรมที่ไม่ออกใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลให้ ซึ่งเป็นเรื่องในอดีตและกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการยื่นอุทธรณ์ศาลไปแล้ว ดังนั้น หากคดีดังกล่าวได้ข้อยุติก็จะสามารถอนุมัติการออกใบอนุญาตให้ได้ หากรวมทั้งหมดจะมีโรงงานน้ำตาลใหม่ที่เกิดขึ้นได้เพียง 13 แห่งเท่านั้น

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำตาลชั้นนำภายใต้แบรนด์ "KBS" เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมแผนลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ไว้แล้ว โดยได้มีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จและได้รับการอนุมัติอีไอเอได้ราวช่วงกลางปีนี้ รวมทั้งได้มีการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ตามเงื่อนไขที่สอน.กำหนด พร้อมกับคู่สัญญาที่ทำไว้กับชาวไร่อ้อยแล้ว

ดังนั้น เมื่อสอน.อนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่แล้ว ทางบริษัท จะมีการหารือกับบริษัท มิตซุย ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมทุนเพื่อสรุปแผนการลงทุนที่ชัดเจนอีกครั้ง รวมถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ โดยแผนการลงทุนนั้นจะมีการจัดตั้งเป็นคอมเพล็กซ์ขึ้นมา นอกเหนือจากลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลขนาด 2 หมื่นตันอ้อยแล้ว จะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 30 เมกะวัตต์ และการตั้งโรงงานผลิตเอทานอล ขนาดกำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งหมดราว 6-7 พันล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการได้ตามแผนโรงงานน้ำตาลคาดว่าจะเปิดหีบอ้อยได้ในปลายปี 2562

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559