ธปท.ส่งสัญญาณ "ท่องเที่ยว" แรงส่งเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม 2559 ขณะที่เกินดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นเดือนแรก หลังขาดดุลติดต่อเป็นเวลา 6 เดือน ปัจจัยหนุนจากเอฟดีไอเข้ามาจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนีทั้งธุรกิจผลิตน้ำมันจากไขมันพืช/สัตว์ ตัวกลางทางการเงินผลิตรถยนต์ ขณะเดียวกันนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ "ให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการ-แปรรูป/ถนอมเนื้อสัตว์และที่พักแรมระยะสั้น
[caption id="attachment_35451" align="aligncenter" width="600"]
เงินทุนเคลื่อนย้าย[/caption]
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2559 โดยระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวตามเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่น และเอเชีย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯและกลุ่มยูโรขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนชะลอต่อเนื่อง การส่งออกหดตัวในอัตราที่สูงขึ้นตามภาวะซบเซาของโลกส่งผลให้การผลิตชะลอตัวสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ส่วนประเทศในเอเชียชะลอลงจากเดือนก่อนตามการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ส่วนใหญ่ในประเทศเอเชียชะลอลง สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศของไทยทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนแผ่วลง เนื่องจากผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวที่เริ่มหมดลง
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังคงทำได้ดีต่อเนื่อง แม้จะแผ่วลงบ้างจากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ชะลอหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า เห็นได้จากภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม แรงส่งของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางแผ่วลง สาเหตุหลักมาจากปัจจัยชั่วคราวที่เริ่มหมดไป ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์และมาตรการเร่งการใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงปลายปี ทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวบ้าง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐชะลอลงหลังเร่งเบิกจ่ายในเดือนก่อน
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวในอัตราที่สูงขึ้นที่ 9.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว และราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ในรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ท่ามกลางแรงส่งเศรษฐกิจไทยแผ่วลงนั้น ยังมีการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนให้ภาคบริการขยายตัวดี อาทิ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก และธุรกิจขนส่ง โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 3 ล้านคนขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากนักท่องเที่ยวจีนที่ยังคงขยายตัวดีและการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวยุโรป
เช่นเดียวกับการใช้จ่ายของภาครัฐทำได้ดีต่อเนื่องแม้แผ่วลงบ้าง จากแรงกระตุ้นการเบิกจ่ายนอกงบประมาณในการลงทุนโครงการด้านคมนาคมและชลประทานที่ชะลอลงหลังจากเร่งตัวสูงในช่วงก่อน โดยรายจ่ายในงบประมาณที่ไม่รวมเงินอุดหนุนขยายตัว 8.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน รายจ่ายลงทุนขยายตัว 1.8% ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนซึ่งขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่การจัดเก็บรายได้หดตัวเล็กน้อยจากการเลื่อนส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งและการปรับลดลงของรายได้ภาษีที่เกี่ยวกับการนำเข้าสอดคล้องกับการนำเข้าที่หดตัว
ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงบ้าง หลังผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวเริ่มหมดไป ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีก่อนตามมาตรการลดหย่อนภาษีของภาครัฐ ประกอบกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติในเดือนนี้ ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนชะลอลงบ้าง
นอกจากนี้ ปัจจัยหนุนการบริโภคในเดือนนี้แผ่วลงจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงเล็กน้อยจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะภัยแล้งและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี รายได้นอกภาคเกษตรที่ยังทรงตัว เป็นปัจจัยสนับสนุนให้การซื้อสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการยังขยายตัวได้บ้าง
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีทิศทางหดตัวสอดคล้องกับการส่งออกของภูมิภาค โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูงในอัตราที่ 9.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน เมื่อหักทองคำแล้วการส่งออกสินค้าหดตัว 8.1% จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าโดยเป็นผลกระทบจากปริมาณการส่งออกที่รับผลกระทบจากอุปสงค์ของเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว นอกจากนี้ราคาในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ยังหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางพาราซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนและอาเซียนสูง
ด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวในทุกหมวดสินค้า แม้ว่าการส่งออกในหมวดทัศนูปกรณ์ (Optical appliances and instruments) ไปจีนเพื่อใช้สำหรับการผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตยังขยายตัวได้ดี แต่มีแนวโน้มที่ชะลอลงต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัวลงและข้าวขยายตัวสูงตามสัญญาขายข้าวจี 2 จีให้กับจีนและอินโดนีเซีย และเครื่องใช้ไฟฟ้าไปตลาดยุโรป กับตลาดเวียดนามยังมีแนวโน้มดีขึ้น
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 17.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมทองคำหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 18.6% ซึ่งเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวสูงจากน้ำมันดิบและโลหะตามทิศทางราคาในโลก
เมื่อพิจารณาถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ 0.53% ตามการลดลงของราคาในหมวดพลังงาน สำหรับอัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนจากการจ้างงานในภาคบริการที่ปรับดีขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับมาเกินดุลสุทธิ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเดือนนี้ โดยเป็นการเกินดุลเป็นครั้งแรก หลังจากขาดดุลกันเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน
ส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก 1. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมันในธุรกิจการผลิตน้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ ตัวกลางทางการเงิน และการผลิตยานยนต์ 2. การได้รับชำระคืนสินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทย และ 3. การกลับเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลธปท.ของนักลงทุนต่างชาติสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนของภูมิภาค อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้นักลงทุนไทยยังคงออกไปลงทุนต่างประเทศ (TDI) อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของธุรกิจการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการการแปรรูปและการถนอมเนื้อสัตว์ และที่พักแรมระยะสั้น และดุลการชำระเงินเกินดุล 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559