การเติบโตของปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นของสนามบินดอนเมือง หลังจากรัฐบาลฟันธงการกลับมาเปิดใช้สนามบินดอนเมืองใหม่อีกครั้ง ควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ด้วยศักยภาพการให้บริการได้เฉพาะอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 1 เพียงอาคารเดียว ด้วยศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร 18.5 ล้านคน แต่ต้องรองรับการเติบโตของผู้โดยสารเฉลี่ยปีร่วม 20-30 % ทำเอาสิ้นปีงบประมาณ 2558 มีผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 28.5 ล้านคนจากช่วงกลับมาเปิดอีกครั้งมีผู้โดยสารอยู่ที่ 23 ล้านคน ทั้งในปีที่ผ่านมายังครองแชมป์สนามบินสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว จากการสำรวจของ CAPA Centre for Aviation (CAPA) บริษัทที่ปรึกษาด้านข้อมูลการบินระดับโลก
ดังนั้นไม่แปลกที่สนามบินดอนเมืองจะแออัดสุดๆ ทำเอาสนามบินต้องทยอยเปิดการให้บริการในโครงการขยายเฟส 2 ซึ่งเป็นส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 2 เพื่อรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาและเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 (เพียร์ 5) เพื่อรองรับช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการปรับปรุงทั้งเรื่องของห้องน้ำ ร้านค้าต่างๆ ก่อนการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มีนาคมนี้
จบเฟส 2 รองรับได้ 30 ล้านคน
การเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 ที่เกิดขึ้น ช่วยลดความหนาแน่นของสนามบินลงไปได้มาก เพราะอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 จะเหลือเฉพาะการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเท่านั้น ส่วนใครจะบินในประเทศ ก็ต้องไปใช้บริการอาคาร 2 ซึ่งอาคารนี้มีพื้นที่ 1.06 แสนตารางเมตร ชั้น 1 เป็นพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศและระบบขนส่งสาธารณะ ชั้น 2 เป็นสำนักงานสายการบิน ชั้น3 เป็นพื้นที่ผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ มีเคาน์เตอร์เช็กอินจำนวนทั้งสิ้น 80 เคาน์เตอร์ (รวมเคาน์เตอร์บริการสำหรับผู้พิการจำนวน 10 เคาน์เตอร์) เป็นเคาน์เตอร์เช็กอินของไทยแอร์เอเชีย อาร์ แอร์ไลน์ส โอเรียนท์ไทย ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยสมายล์ และนกแอร์ โดยระบบลำเลียงกระเป๋า สัมภาระ และเครื่องเอ็กซ์เรย์ ซึ่งจะเป็นระบบ Inline baggage Screening รูปแบบเดียวกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ คือ ผู้โดยสารเข้าไปเช็กอินพร้อมนำกระเป๋าเข้าสายพานลำเลียง ณ จุดเช็กอินของสายการบินต่างๆ ไม่ต้องนำกระเป๋ามาเข้าเครื่องเอ็กซ์เรย์ แล้วจึงเข้าไปยังจุดเช็กอินเหมือนอาคาร 1 ของสนามบินดอนเมืองที่เป็นระบบเก่า
ส่วนชั้น 4 เป็นโซนร้านอาหารประเภทต่างๆ ซึ่งมี 276 ร้านค้า ที่ขณะนี้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่เสร็จแล้วกว่า 80% ส่วนพื้นที่ปฏิบัติการเขตการบิน (Airside) ของท่าอากาศยานดอนเมืองมีหลุมจอดอากาศยานทั้งหมด 101 หลุมจอด แบ่งเป็นหลุมจอดที่เชื่อมต่อกับประตูทางออกอาคารผู้โดยสาร (Contact Gate) 35 หลุมจอด และเป็นหลุมจอดระยะไกล (Remote Parking) 66 หลุมจอด โดยการพัฒนาในเฟส 2 นี้จะทำให้สนามบินดอนเมืองรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน ซึ่งภายในปีนี้คาดว่าจะมีผู้โดยสารในระดับนั้น เพราะปัจจุบันสนามบินดอนเมือง มีเที่ยวบินให้บริการ 670-680 เที่ยวบินต่อวัน มีผู้โดยสารใช้บริการ 1.1 แสนคนต่อวัน
วางโมเดลศักยภาพพื้นที่เชิงพาณิชย์
อีกทั้งการเปิดใช้อาคาร 2 เป็นการจัดสรรพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้พื้นที่ในเชิงพาณิชย์ที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มองว่า เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ ที่ไม่เพียงสร้างรายได้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการบินให้ ทอท. ยังทำให้เกิดการกระจายตัวของผู้โดยสารไปยังจุดพื้นที่พาณิชย์เหล่านี้ แทนรอกันแถวจุดขึ้นเครื่อง ขณะเดียวกันยังเป็นการดึงลูกค้าที่อยู่รอบสนามบินมาใช้บริการร้านอาหารต่างๆ ในที่สนามบิน ซึ่งด้วยพื้นที่ของอาคารที่ไม่ได้ใหญ่มาก ทำให้ ทอท.สามารถคัดเลือกเอกชนเข้ามาเปิดให้บริการได้
การจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมือง ถือเป็นโมเดล ที่อยากจะเห็นการดึงร้านต่างๆ ที่มีแบรนด์ หรือร้านที่มีจุดขายให้เข้ามาเปิดให้บริการที่สนามบินมากขึ้น ซึ่งการเปิดอาคาร 2 นี้ทำให้ทอท.มีพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นกว่า 1.6 หมื่น ซึ่งมีทั้งการเปิดให้บริการของ 4 ธนาคารหลักของไทย อาหารและเครื่องดื่ม และห้องประชุมย่อยหรือ Co-Working Space ห้องพักชั่วคราวแบบ Sleep Box ที่มีห้องน้ำในตัวกว่า 20 ห้อง เป็นต้น ซึ่งคาดว่าทอท.จะมีรายได้จากการเปิดสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาทต่อปี
ดังนั้นพื้นที่ในชั้น 4 ของอาคาร 2 จึงเป็นจุดดึงดูดทั้งลูกค้าที่มาใช้บริการสนามบินและลูกค้าจากรอบสนามบิน โดยไฮไลต์ใหม่จะอยู่ที่การลงทุนของมิราเคิล กรุ๊ป ที่จะเป็นที่ตั้งของ Sleep Box by Miracle โรงแรมแนวใหม่ภายใต้แนวคิดเดียวกับโรงแรมแคปซูล ที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน Sleep Box by Miracle ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 500 ตร.ม. บริเวณชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร 2 สนามบินดอนเมือง มีทั้งหมด 25 ห้อง แต่ขณะนี้เพิ่งเสร็จเพียงไม่กี่ห้อง ซึ่งห้องพักมีขนาด 15 ตร.ว. มีห้องน้ำในตัว สำหรับรองรับคนจากต่างจังหวัดที่จะมาพักก่อนต่อเครื่องบิน และ Sleep Box Lounge สำหรับเป็นที่รับรองของแขกเข้าพักหรือพบปะทางธุรกิจ ซึ่งอัตราค่าใช้บริการกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบราคา Sleep Box ที่เป็นแบบห้องน้ำรวมในต่างประเทศ อาทิญี่ปุ่น 400 บาท/ชม. อินเดีย 300 บาท/ชม. Sleep Box by Miracle ที่อาคารผู้โดยสาร 2 สนามบินดอนเมือง นับเป็น Sleep Box แห่งแรกของประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเริ่มเปิดให้บริการ 5 ห้องแรกในวันที่ 8 มีนาคมและจะเปิดครบ 25 ห้องราวสิ้นเดือนมีนาคม ภายใต้การลงทุนกว่า 20 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมี Magic Garden Food Hall แหล่งรวมอาหารนานาชาติชื่อดังหลากหลายแบรนด์ อาทิ GYUNOYA, AUNTLE ANNE’s, ยำแซบ และร้านอาหารไทยที่เป็นที่รู้จัก อาทิ ราดหน้าจักรพรรดิ ยู้ลูกชิ้นปลา ข้าวหมกไก่สยามอินโด และนู้ดเดิ้ลการ์เด้น รวมทั้งสิ้น 18 ร้านบนพื้นที่กว่า 2,500 ตร.ม.กว่า 300 ที่นั่ง ใช้งบลงทุนกว่า 50 ล้าน และอีกหนึ่งศูนย์อาหารที่ Miracle Group ได้เปิดให้บริการสำหรับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในสนามบินดอนเมืองตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 อาคารที่จอดรถ 7 ชั้นภายใต้ชื่อ Magic Food Park กับ 11 ร้านอร่อยระดับเชลล์ชวนชิมให้ราคาเหมาะสม จนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้
อีกทั้งในเร็วๆ นี้มิราเคิล กรุ๊ป เตรียมจะเปิดให้บริการ Co-Working บนชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร 2 บนพื้นที่ 700 ตร.ม.ด้วยพื้นที่ทำงานและห้องประชุม พร้อมอุปกรณ์สำนักงานอันทันสมัย จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการสนามบินดอนเมืองแห่งนี้
เรโนเวทอาคาร 1 ขยายเฟส 3
หลังการเปิดใช้อาคาร 2 อย่างเป็นทางการ ทางทอท.ก็ยังมีแผนขยายศักยภาพของสนามบินอย่างต่อเนื่อง ตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินที่จะกำลังจะเกิดขึ้น
ต่อเรื่องนี้นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. กล่าวว่า หลังจากสนามบินดอนเมืองเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 สำหรับรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินในประเทศ อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มีนาคม 2559 ทางสนามบินดอนเมืองจะดำเนินการดำเนินการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นอาคารเก่า เฉพาะระบบแอร์ ก็นานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งจะมีการทยอยปิดเป็นส่วนๆ เพื่อปรับปรุงไฟฟ้า แสงสว่าง และเคาน์เตอร์เช็กอิน ที่จะปรับให้ระบบ In-Line screening
ทั้งยังจะดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะ 3 ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินดอนเมือง โดยทอท.จะนำเสนอบอร์ด ทอท.ให้พิจารณาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ เบื้องประเมินงบลงทุนในหลักนับหมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่เคยวางไว้ที่ 7 พันล้านบาท เนื่องจากจะมีการขยายสเกลการลงทุนที่ใหญ่กว่าแผนเดิม ซึ่งการลงทุนที่จะเกิดขึ้น จะมีการการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศหลังเดิมซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เปิดใช้งาน การทุบอาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อนำมาใช้สำหรับพื้นที่จอดรถ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (Junction Terminal) โดยจะมีการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างตัวอาคารกับสถานีรถไฟฟ้าดอนเมืองที่จะเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทาง บางซื่อ–รังสิต และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สายพญาไท–ดอนเมือง ที่จะแล้วเสร็จในช่วงปี 2563-2564 และการสร้างอาคารจอดรถเพื่อรองรับรถยนต์ได้อีกกว่า 3 พันคัน ซึ่ง ทอท.คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินดอนเมืองจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งเต็มศักยภาพการรองรับของสนามบินดอนเมือง โดยจะเป็นงบลงทุนในช่วงปี 59-65 ที่จะเกิดขึ้นของสนามบินดอนเมือง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,137 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559