GDP บราซิลปี 58 หด3.8% ส่อแววถดถอยรุนแรงซ้ำ
เศรษฐกิจบราซิลในปีที่ผ่านมาหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปีจากผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลด ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และเงินเฟ้อรุนแรงทำให้ภาคธุรกิจลดการใช้จ่ายและปลดพนักงาน
สำนักงานสถิติแห่งชาติบราซิลเปิดเผยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2558 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตลอดทั้งปีหดตัว 3.8% นับเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ปี 2533 ส่งผลให้บราซิลเป็นประเทศที่มีสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในกลุ่มจี 20
ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของบราซิลยังไม่ถึงจุดต่ำสุด จากผลสำรวจโดยธนาคารกลางบราซิลพบว่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์การหดตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ลงอีกเกินกว่า 3% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจบราซิลหดตัวติดต่อกัน 2 ปีอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 2444
วิกฤติการเมืองภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของบราซิลปรับลดลงอย่างมาก เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจบราซิล หลังจากเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบราซิลเป็นดาวเด่นในสายตานักลงทุนด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง
รัฐบาลบราซิลกล่าวว่า การหดตัวของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่คาดหมายไว้แล้ว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ "รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" กระทรวงการคลังบราซิลระบุผ่านแถลงการณ์
เจา เปโดร ริเบโร นักเศรษฐศาสตร์ละตินอเมริกาจากโนมูระ ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า "เราน่าจะเห็นการหดตัวในลักษณะคล้ายคลึงกับปีที่ผ่านมาอีกในปีนี้ ยังไม่มีเครื่องจักรที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต อาจจะมีการส่งออกที่ทำได้ แต่เศรษฐกิจบราซิลค่อนข้างปิด เราจึงไม่เชื่อว่าการส่งออกจะนำพาบราซิลหลุดจากภาวะเช่นนี้ได้"
ด้านมีเฮียร์ คาปาเดีย ผู้บริหารบริษัท ซัน โกลบอล อินเวสต์เมนต์ กล่าวว่า เศรษฐกิจบราซิลได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ สถานการณ์อาจจะดีขึ้นถ้าแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่ในระยะสั้นแทบจะไม่มีปัจจัยที่เป็นไปในทิศทางบวก
นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานและการผิดนัดชำระหนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยยืดเยื้อออกไป ซึ่งอาจส่งผลต่อความพึงพอใจของสาธารณชน ขณะเดียวกันภาคการธนาคารยังอยู่ในภาวะที่มีเงินทุนเพียงพอรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อาจตัดสินใจเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ช้าลง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของบราซิลระบุว่า เศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีก่อนหดตัว 1.4% จากไตรมาส 3 นับเป็นการหดตัวเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 จีดีพีหดตัว 5.9%
ภาคการเกษตรเป็นเพียงภาคส่วนเดียวของเศรษฐกิจที่เติบโตได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่ 2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ส่วนภาคอุตสาหกรรมและบริการต่างหดตัว 1.4% การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนหดตัว 1.3% การลงทุนหดตัว 4.9% และการใช้จ่ายของภาครัฐหดตัว 2.9%
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559