"อาคม" เยือนจีนเคาะ 3 ขบวนนำร่องประเดิมให้บริการรถโดยสารเชิงพาณิชย์จาก 115 คัน ครบเซตทั้งรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 รถโบกี้ปรับอากาศสำหรับบริการขายอาหาร และรถกำลังไฟฟ้า ผู้ว่าการร.ฟ.ท. เผยถึงเมืองไทยแน่ ก.ค.นี้คาดเปิดเดินรถ 5 ส.ค. 59 ประเดิมเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ค่าโดยสารคงเดิม คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณปีละ 1 ล้านคน สร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 1.25 พันล้านบาท
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมานายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารร.ฟ.ท.ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อติดตามความคืบหน้าการผลิตขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์จำนวน 115 คัน วงเงินจัดซื้อ 4,668 ล้านบาท ตามที่ได้เซ็นสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีซีที่ประกอบไปด้วย บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด, บริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ จำกัด และบริษัท .ไชน่า เรลเวย์คอนสตรักชั่น(ประเทศไทย) จำกัด โดยการผลิตทั้งหมดดำเนินการในประเทศจีนและมีแผนทยอยขนส่งทางเรือมายังท่าเรือแหลมฉบังในเดือนกรกฎาคมนี้ก่อนจำนวน 3 ขบวนเพื่อนำไปทดลองให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หลังจากนั้นจึงจะเร่งทยอยส่งมอบครบทั้งหมดในเดือนธันวาคม พร้อมทยอยเปิดให้บริการวันที่ 5 สิงหาคม 2559
[caption id="attachment_40760" align="aligncenter" width="500"]
รถไฟใหม่[/caption]
"ปัจจุบันรถโดยสารประเภทรถนอนปรับอากาศที่พ่วงให้บริการในขบวนรถต่างๆ มีจำนวนไม่เพียงพอกับการใช้งาน ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานมานานจึงมีสภาพค่อนข้างเก่า อุปกรณ์บางส่วนชำรุด ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองตอบความต้องการของตลาดเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการให้บริการขนส่งผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะผู้โดยสารระดับกลางและระดับบนที่มีกำลังซื้อ และต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างทางคู่ระยะเร่งด่วนอีกด้วย"
ทั้งนี้โครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนของร.ฟ.ท.ปี 2553-2557 วงเงินลงทุนรวม 1.76 แสนล้านบาท ซึ่งได้ร่วมโครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์จำนวน 115 คันไว้ด้วย ปัจจุบันอัตราค่าโดยสารรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ชั้นบนราคาคนละ 1,253 บาท ชั้นล่างคนละ 1,453 บาท ส่วนรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 ชั้นบนคนละ 791 บาท และชั้นล่างคนละ 881 บาท
ด้านนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ ร.ฟ.ท. กล่าวถึงความพร้อมที่จะให้บริการว่าเป็นการจัดหารถพ่วงที่เป็นรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 จำนวน 9 คัน รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 จำนวน 88 คัน รถโบกี้ปรับอากาศสำหรับบริการขายอาหารจำนวน 9 คัน และรถกำลังไฟฟ้า จำนวน 9 คัน
"ตามแผนนั้นจะนำไปให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และเส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ไป-กลับวันละ 2 ขบวนต่อเส้นทางในรูปแบบรถด่วนพิเศษ ใช้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถถึงที่หมายปลายทางได้เร็วเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อเส้นทาง และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณปีละ 1 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ยประมาณปีละ 1.25 พันล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(FIRR) 11%"
โดยโครงการจัดหารถรถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์จำนวน 115 คัน สำหรับการวางแผนด้านการตลาดนั้นได้มีการวางแผนส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมท่องเที่ยวทางรถไฟกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและตัวแทนบริษัทท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศเน้นการจำหน่ายตั๋วผ่านระบบออนไลน์ และจัดทำบัตรสมาชิกสำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการเดินทางกับขบวนรถพิเศษ(SRT'Club) เพื่อใช้เป็นช่องทางสำหรับการแจ้งข่าวสารหรือบริการใหม่ๆ เช่น การจัดนำเที่ยว การส่งเสริมการขายต่างๆในรูปแบบของการสะสมระยะทาง และยังให้บริการ ณ สถานีรถไฟสำคัญให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งอื่นได้อีกด้วย
ทั้งนี้ปัจจุบันร.ฟ.ท.มีปริมาณผู้โดยสารและรายได้จากการโดยสารสำหรับขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ Commercail และขบวนรถเชิงสังคม PSO ประจำปี 2558 ดังนี้ คือ ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์จำนวนรวม 10.3 ล้านคน เชิงสังคม 24.7 ล้านคน รวม 35 ล้านคน ส่วนรายได้การโดยสารเชิงพาณิชย์รวม 2,308 ล้านบาท เชิงสังคม 15 ล้านบาท รวม 2,323 ล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 25 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559