การขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ภายใต้การระดมสมองของคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ ที่มี "ชนินทธ์ โทณวณิก" เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน และ "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐซึ่งเป็น 1 ใน 12 คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหรือคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ที่นับจากตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนธันวาคม 2558 จนถึงวันนี้คณะทำงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ มีการเดินแผนการทำงานไปถึงขั้นไหน "ฐานเศรษฐกิจ" ได้จับประเด็นมานำเสนอ
[caption id="attachment_46979" align="aligncenter" width="503"]
ASEAN Connect[/caption]
ชู 3 เป้าหมายเห็นผลครึ่งปีหลัง
การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของคณะทำงานชุดนี้ ได้วางไทม์ไลน์ การผลักดันให้เกิดกิจกรรม Quick win ใน 11 โครงการ ภายใต้เป้าหมายการทำงานใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.กระจายรายได้ 2.ยกระดับรายได้ และ3.สร้างความยั่งยืน ที่ในแต่ละโครงการมีการกำหนดผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละประเด็นทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างชัดเจน ด้วยหวังว่าโครงการต่างๆตามแผน Quick win จะสามารถเห็นผลใน 2 ช่วงเวลา คือ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้บางส่วน และส่วนที่เหลือจะคิกออฟได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
โดยกรอบช่วงเวลาการผลักดันกิจกรรม Quick win ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จะมี 6 โครงการ ได้แก่ "การส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในประเทศไทย" ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วหลังจากเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 คณะทำงานมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานพลังประชารัฐ 21 องค์กร โดยหวังให้หน่วยงานในเครือข่าย จัดงานอย่างน้อย 1 ประชุมหรือ 1 ทริปต่อ 1 บริษัทในต่างจังหวัดภายในกลางปี2559 ปัจจุบันคณะทำงาน อยู่ระหว่างการติดตามหน่วยงานในเครือข่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโลว์ซีซันนี้
ตามมาด้วยโครงการ "ASEAN Connect" ที่ในช่วงนี้อยู่ระหว่างการสรุปเรื่องการเพิ่มเที่ยวบินจากเมืองหลักและเมืองรองในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขยายเส้นทางการบินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มความสะดวกในการเดินทางมาไทย ซึ่งผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้มีทั้งการบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส นกแอร์และไทยแอร์เอเชีย โครงการ"ไทยฟู้ด แอนด์ ฟรุ๊ต" ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวบริโภคอาหารไทยและผลไม้ไทย เพื่อสร้างรายได้ต่อยอดให้กับภาคเกษตร ที่เตรียมจะยกขึ้นมาเป็นเรื่องเร่งหลักก่อน เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นรูปธรรมในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ ส่วนโครงการ "Attractive Investment Incentives" (นโยบายกระตุ้นการลงทุนด้านการท่องเที่ยว) ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดในเรื่องการขอสนับสนุนให้ปรับปรุงโรงแรมในช่วงโลว์ซีซันนี้
ทั้งยังมีโครงการ" Tourism Gateway" เว็บไซต์เพื่อเป็นทัวริซึมเกตเวย์ของไทยและจัดการออนไลน์ บุ๊กกิ้ง สำหรับจองโรงแรมไทยทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดในเรื่องของโครงสร้าง และประเด็นเรื่อง " Visa & Immigration" ผลักดันวีซ่าระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ,อาเซียนวีซ่า และอำนวยความสะดวกในการเข้าประเทศ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
ส่วนอีก 5 โครงการที่เหลืออยู่ระหว่างการเตรียมเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่ "Storytelling&Contest" การเพิ่มมูลค่าด้วยการให้ความรู้และเรื่องราวความเป็นมาของสินค้าและบริการ และการจัดประกวดต่างๆเพื่อยกระดับมาตรฐาน ซึ่งเรื่องนี้มี "ชฏาทิพ จูตระกูล"และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นตัวเรือหลัก "Lighting&Illumination" การส่งเสริมการท่องเที่ยวยามค่ำคืน ด้วยการติดไฟ เช่นแหล่งโบราณสถานสำคัญ วัด เกาะรัตนโกสินทร์ โดยรัฐรับผิดชอบค่าไฟ โครงการ "ช็อปปิ้ง พาราไดซ์" ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการลดภาษีสินค้าหรู (Luxury Goods/Wine) รวมถึงการทำ VAT Refund ณ จุดขาย โครงการ"Laws&Regulations" การปรับปรุงกฎหมายต่างๆเพื่อให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและเพิ่มบทลงโทษ และ "Safety&Security"ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆเพื่อให้เที่ยวได้มากขึ้น
คิกออฟ อะเมซิ่ง ไทย เทสต์
สำหรับโครงการล่าสุดที่จะถูกหยิบยกมาเป็นโปรเจ็กต์นำร่องที่ทางคณะทำงานมองว่าจะนำเสนอในการประชุมของคณะกรรมการประชารัฐทั้ง 12 คณะที่ได้ประชมร่วมกับนายกรัฐมนตรีนั้น จะชูเรื่องของ"ไทยฟู้ด แอนด์ ฟรุ๊ต" ที่จะโปรโมตอาหารไทย 6 อย่างและผลไม้ไทยตามฤดูกาล เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ในทุกทัช พอยต์ นับตั้งแต่ตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทย ได้แก่ ส้มตำ มัสมั่น แกงเขียวหวาน ต้มข่า ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ที่จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งสนามบิน บนเครื่องบิน โซเชียลต่างๆ โรงแรมต่างๆ เพื่อโปรโมตและสร้างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอาหารและผลไม้ไทยใน 6 อย่างนี้ (ตารางประกอบ)
โดยจะต้องมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดัน " Amazing Thai Taste" ในทุกทัชพอยต์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ที่ต้องสื่อสารให้เป็นเมสเสจเดียวกันและแผนการจัดงานไทยฟู้ดเฟสติวัล ในเดือนกันยายน 2559 ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยกระจายรายได้สู่ภาคเกษตร ยังเป็นการสร้างแบรนด์อาหารไทย ผลไม้ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าและแพร่หลายในตลาดโลก ซึ่งการทานอาหารไทย เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าใช้จ่ายยังต่ำอยู่ จึงยังเป็นโอกาสของอาหารและผลไม้ไทย ที่จะกระตุ้นการบริโภคอาหารไทยและผลไม้ไทยในแต่ละท้องถิ่น
กางโมเดล ทัวริซึม เกตเวย์
ส่วนอีกโครงการที่คณะทำงานอยากจะผลักดันให้เกิด คือ โครงการ" Tourism Gateway" ซึ่งมีแนวคิดจะดำเนินการในรูปแบบของ "Social Enterprise" ไม่เน้นทำกำไร สำหรับผู้ถือหุ้นแต่จะสร้างรายได้ เพื่อใช้ในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน และคืนกำไรสู่สังคม ตามโครงการการบริหารจัดการ(Governance Model) ที่คณะทำงานมองอยู่ มี 2 ทางเลือกที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา คือ 1.การให้เป็นเอกชนถือหุ้นทั้งหมดผ่านสมาคมต่างๆอาทิ สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมกอลฟ์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ หรือ2.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยรัฐถือหุ้นส่วนน้อย
ขณะที่คณะกรรมการบริหาร ก็มองว่าจะมีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการดำเนินกิจการ เพื่อให้มีการบริหารงานเชิงธุรกิจที่มีกำไร ไม่พึ่งพางบประมาณรัฐ และกำหนดราคาที่เป็นธรรม เพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ทั้งนี้หากโครงการนี้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องในทุกระดับของไทย โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่า 4 พันแห่ง ร้านอาหารและภัตตาคารกว่า 6.41 หมื่นร้าน ผู้ประกอบการสปา กว่า 1 พันแห่ง สนามกอล์ฟกว่า 240 สนามบิน โรงแรมและเกสต์เฮาส์กว่า 5.4 พันแห่ง และที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะสามารถระบบเว็บไซต์นี้ ที่ถือเป็นทัวริซึมเกตเวย์ของไทยและการจัดการออนไลน์ บุ๊กกิ้ง เพิ่มศักยภาพในการขายและการแข่งขันในธุรกิจได้ เพราะผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก คงไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเพียงพอสำหรับการพึ่งพาการขายผ่านเว็บไซต์ท่าของต่างประเทศ
ทั้งหมดล้วนเป็นความคืบหน้าในการทำงานของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านท่องเที่ยวและไมซ์ในขณะนี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559