บูมเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน "ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา สตูล" รัฐอัดงบต่อเนื่อง 5 ปี 2559-2563 ภูเก็ตลุยโครงสร้างพื้นฐานด้วยงบกว่าหมื่นล้าน สร้างอุโมงค์ลอดถนน 4 แห่ง พร้อมทำถนนบายพาสเข้าสนามบินใหม่ ลดปัญหาจราจร และเร่งส่งเสริมท่าจอดเรือมาตรฐาน พร้อมงบอีกก้อนกว่าหมื่นล้าน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล และการเชื่อมต่อ 5 จังหวัดอันดามัน เร่งขยายถนน 4 เลน รองรับการท่องเที่ยว เผยหลังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเสร็จ จะเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวกลุ่มอันดามันได้ 20-30% จากยอดรายได้ 3.1 แสนล้านเมื่อปี2558
[caption id="attachment_50232" align="aligncenter" width="700"]
จำนวนรายได้จากนักท่องเที่ยวปี 2557-2558[/caption]
นายสุรชัย ชัยวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การเปิดสนามบินใหม่ภูเก็ตขยายจำนวนหลุมจอดจาก 15 หลุมจอด เป็น 25 หลุมจอด สามารถรองรับการขึ้น-ลงของเที่ยวบินเพิ่มอีก 40 เที่ยวบินต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 20% ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวในภูเก็ตเพิ่มขึ้น จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตขยายตัวได้อีกกว่า 10% จากปีที่แล้วภูเก็ตมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 12 ล้านคน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวในกลุ่มท่องเที่ยวอันดามันจะเพิ่มขึ้น 20-30 % จากยอดรายได้รวมเมื่อปี 2558 ที่ 3.1 แสนล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาลงสนามบินภูเก็ต จะมีทั้งที่เข้าพักในภูเก็ต และกระจายไปยังจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ เช่น เขาหลัก พังงา กระบี่ ตรัง ดังนั้น การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจังหวัดกลุ่มท่องเที่ยวอันดามันด้วยกัน จึงถือเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ต้องเร่งดำเนินการ
เทหมื่นล.โครงสร้างพื้นฐานภูเก็ต
ดังนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับโครงการที่เริ่มดำเนินแล้วในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ที่ได้งบมาปีนี้จำนวน 3.5 พันล้านบาท เพื่อสร้างความพร้อมทั้งหมด ในด้านระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งโรงแรมที่จะเพิ่มอีกกว่า 10 แห่ง จากจำนวนห้องพักที่ตอนนี้มีอยู่แล้วกว่าแสนห้อง ประกอบด้วย
การสร้างอุโมงค์ทางลอดถนน เพื่อขจัดปัญหาการจราจรในเมืองภูเก็ต 4 แห่ง เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3 ปี โดยอุโมงค์แห่งแรก คือ โครงการอุโมงค์ทางลอดแยกดาราสมุทร หรือแยกเซ็นทรัล บนถนนเทพกระษัตรี ที่เปิดใช้ไปเรียบร้อยแล้ว ที่เหลืออีก 3 แห่ง คือ โครงการอุโมงค์บริเวณถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 หรือถนนบายพาส จุดใกล้ก่อสร้างทางลอดสามกอง หรือแยกโลตัส ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทางลอดทางแยกที่บริเวณสามแยกบางคู (แยกบายพาส) และทางลอดที่บริเวณห้าแยกฉลอง สำหรับ 2 แยกหลังนี้ได้มีการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการเสร็จแล้ว เมื่อการก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดตามแยกสำคัญ ๆ ของภูเก็ตได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีถนนเส้นใหม่บายพาสไปยังสนามบิน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ตอนนี้กำลังดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อการก่อสร้างต่อไป โดยงบในการก่อสร้างถนนและอุโมงค์ทั้งหมด อยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
โครงข่ายเชื่อม 5 จ.อันดามัน
นายสุรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการถนนระหว่างจังหวัด ขณะนี้กำลังทำถนน 4 เลน เชื่อมต่อระหว่างภูเก็ต กระบี่ ตรัง ซึ่งดำเนินการก่อสร้างขยายถนนเป็นช่วงๆ โดยโครงการเชื่อมต่อใน 5 จังหวัดเขตท่องเที่ยวอันดามันจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี
จังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดหลักในกลุ่มอันดามัน ยังได้รับงบประมาณในการซ่อมบำรุง ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ อาทิ การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ใกล้จะเต็มกำลังการใช้งานจากกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่ 450 เมกะวัตต์แล้ว หลังจากขยายกำลังผลิตจะทำให้เพิ่มกระแสไฟฟ้าเป็น 2 พันเมกกะวัตต์ สามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจโรงแรม และสถานท่องเที่ยว รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูเก็ตได้
ลุยจัดการปัญหา"ขยะ"
สำหรับปัญหาเรื่องน้ำ ที่ภูเก็ตมีปัญหาการขาดแคลนน้ำมาตลอด นายสุรชัย กล่าวว่า ภูเก็ตไม่ได้ขาดน้ำ เพราะมีขุมน้ำเยอะ และมีฝนตกนานถึง 8 เดือนติดต่อกันในหนึ่งปี ดังนั้น สิ่งที่เร่งดำเนินการคือ การสร้างอ่างเก็บน้ำ
จากแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว ภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ เตาเผาขยะ ตามแผนจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในเขตเมือง เกาะ และทะเล มีโครงการจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกลุ่มอันดามัน ใช้งบปีละ 5 ล้านบาท ต่อเนื่องปี 2559-2563 รวมถึงมีการก่อสร้างเตาเผาขยะ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวบริเวณหาดปากเมง - เกาะมุกด์ - เกาะลิบง - เกาะสุกร ใช้งบปี 2559 รวม 12 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนกําจัดขยะตามแหล่งท่องเที่ยวสําคัญของจังหวัดพังงา -เกาะปันหยี (500 kg/day) -หมู่เกาะสิมิลัน (100 kg/day) -หมู่เกาะสุรินทร์ (100 kg/day) -เกาะยาว (500 kg/day) -เกาะคอเขา(500 kg/day) -เทศบาลตําบลคึกคัก (1,000 kg/day) ใข้งบปี 2559 จำนวน 17 ล้านบาท
5 จ.เขตพัฒนาท่องเที่ยวอันดามัน
ด้านนายสันติ ป่าหวาย การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ต เป็นส่วนหนึ่งในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ซึ่งไม่ตรงกับกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัด ที่มีระนองรวมอยู่ด้วย แต่ในส่วนของเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน จะมีสตูลเข้ามาแทนระนอง และอีก 4 จังหวัดยังคงเดิม คือกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต งบในการพัฒนาการท่องเที่ยวต่าง ๆ ต่อไปนี้ จะผ่านเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน
จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. ... และกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. 2558 ได้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 22 ก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 กำหนดเขตพัฒนาท่องเที่ยว 5 เขตนำร่อง ได้แก่ เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา และเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้
สำหรับเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจาก 5 จังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันและติดตามความคืบหน้า ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการท่องเที่ยว 5 จังหวัดอันดามัน
ลุ้นโครงข่ายเชื่อม 5 จ.ดันรายได้พุ่ง
นายสันติกล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ได้งบมาจากกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนประมาณ 6 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดทำโครงการเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวอันดามัน 3 โครงการ ได้แก่ 1.วิถีวัฒนธรรมอันดามัน 2.การท่องเที่ยวทางทะเล และธรรมชาติ 3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สปา น้ำพุร้อน
ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหากเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด จะทำให้การท่องเที่ยวภายในเขตอันดามันสามารถเชื่อมต่อกันได้สะดวกขึ้น เพราะเวลานี้เรื่องลอจิสติกส์และการจราจร ถือเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มอันดามัน คาดว่าเมื่อถนน 4 เลน ถนนบายพาส และอุโมงค์ลอดต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยภายใน 4-5 ปีหลังจากนี้ จะทำให้เพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวในกลุ่มอันดามันได้ไม่ต่ำกว่า 20% จากรายได้การท่องเที่ยวในเขตอันดามัน
ปั้นมารีน่าฮับอันดามัน
นอกจากนี้ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ซึ่งรวมถึงการสร้างท่าเรือ หรือมารีน่า สำหรับเป็นจุดจอดเรือ ซึ่งมีโครงการทำท่าเรือของภาคเอกชนหลายแห่ง ที่ดำเนินการไปแล้ว ขณะนี้ภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่ในการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นมารีน่าฮับ หรือศูนย์การจอดเรือ ซึ่งกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือฯ ได้ปรึกษากันและมีการเขียนงบประมาณในการส่งเสริมและพัฒนาจำนวนกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนามารีน่าฮับของจังหวัดภูเก็ต และเขตอันดามัน ตามนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ
photo :
Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559