กรมอุตุฯ ส่งซิกปีนี้ไทยโชคดีจะมีพายุเข้าช่วง ส.ค.-ก.ย. ส่งผลดีเติมเขื่อนอีสาน/ภาคเหนือ พ้นวิกฤติแล้ง ขณะอีก 1 ลูกจ่อลงภาคใต้ เสี่ยงวิกฤติหนักหวั่นเทียบเท่าพายุเกย์ ส่งสัญญาณให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวพร้อมรับมือ ด้าน กรมชลฯ เปิดข้อมูลเฝ้าระวัง 2 พื้นที่ลุ่มต่ำ 18 จังหวัด 1.4 ล้านไร่ ขณะพื้นที่ดอน 22 จังหวัด 6.2 ล้านไร่ แนะให้ปลูกพืชกลาง ก.ค.
[caption id="attachment_51298" align="aligncenter" width="700"]
สถานการณ์ภัยแล้งในรอบ 1 เดือน[/caption]
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ฝนที่เห็นตกทุกวันนี้ยังไม่ใช่เข้าสู่ฤดูฝน เพราะจะเห็นว่าฝนที่ตกในกรุงเทพฯ มีเพียงแค่บางเขต ระยะเวลาสั้นๆ ที่สำคัญยังไม่ใช่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมประจำฤดูฝนที่จะพัดพาความชุ่มชื้นจากทะเลอันดามันเข้าปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ส่วนลมระดับบนจะต้องเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกพัดปกคลุมจึงจะทำให้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2559 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2559
"ในช่วงเดือนพฤษภาคมปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อยจากนั้นปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงกับค่าปกติในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก หลายพื้นที่ อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่ คาดการณ์ว่าปริมาณฝนโดยรวมของทั้งฤดูจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา"
สำหรับในเดือนมิถุนายน คาดว่าลักษณะอากาศประเทศไทยตอนบนมีฝนตกส่วนมากในระยะครึ่งแรกของเดือนกับมีฝนหนักบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนเดือนกรกฎาคมปริมาณฝนมีแนวโน้มใกล้เคียงค่าปกติ อาจจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ จะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยโดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของเดือนจะมีกำลังค่อนข้างแรง สรุปปริมาณฝนมีแนวโน้มใกล้เคียงค่าปกติ
นายวันชัย กล่าวอีกว่า สำหรับปรากฏการณ์เอลนิโญที่ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งจะลดระดับความรุนแรงลงและเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2559 และมีโอกาส 60-65% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานิญาในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2559 คาดการณ์ว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 2 ลูก ซึ่ง 1 ลูก มีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน หากเข้ามาจะส่งผลดี เพราะวันนี้น้ำในเขื่อนมีระดับที่ต่ำมาก หากเทียบกับปี 2554 ก็หวังว่าจะเติมน้ำในเขื่อน เพื่อปี 2560 จะได้ไม่เกิดวิกฤติภัยแล้ง และมีน้ำเพียงพอที่จะใช้ในฤดูแล้งหน้า ส่วนพายุอีก 1 ลูก จะเคลื่อนผ่านภาคใต้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งถือว่าน่ากลัวเพราะความแรงของพายุจะคล้ายกับพายุไต้ฝุ่นเกย์ (ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2532) ขณะนี้ทางกรม ได้แจ้งหลายหน่วยงานเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชน
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงมาตรการการจัดสรรในช่วงฤดูฝนลุ่มน้ำเจ้าพระยา จาก 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 ตุลาคม 2559 ว่า มีแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยแบ่งเป็น เพื่อการอุปโภคบริโภค วันละ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการรักษาระบบนิเวศ วันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการเกษตรต่อเนื่อง เช่น ไม้ผล อ้อย วันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมความต้องการน้ำต่อวัน 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการระบายน้ำจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1.ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2559 อัตราสูงสุดวันละไม่เกิน 18 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 2. ในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 –31 ตุลาคม 2559 อัตราสูงสุดวันละไม่เกิน10 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้การเพาะปลูกของเกษตรกรจะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ดังนั้นเพื่อสนับสนุนในการเพาะปลูก จึงได้แยกพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 1.4 ล้านไร่ จำนวน 18 จังหวัด อาทิ พิษณุโลก สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชัยนาท ปทุมธานี และสุพรรณบุรี เป็นต้น แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2559 ส่วนในพื้นที่ดอน ที่มีพื้นที่ประมาณ 6.2 ล้านไร่ ใน 22 จังหวัด อาทิ สุโขทัย กำแพงเพชร กรุงเทพฯ และนครนายก เป็นต้น แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559