อ่านมุมมองเศรษฐกิจ ‘ดร.เบญจรงค์’แนะรัฐรีวิว‘ซอฟต์โลน’ กระตุ้นกำ ลังซื้อภูมิภาค
ล่วงเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ระหว่างที่ทุกฝ่ายยังรอลุ้นตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาส1/2559 ที่จะออกมาโดยยังไม่มีใคร "ฟันธง" แต่ภาพเศรษฐกิจต้นปีที่ผ่านมากว่า 4 เดือนหลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจทยอยปรับลดประมาณการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีลดลง(จีดีพี) ซึ่งเป็นประเด็นให้ภาครัฐและผู้ประกอบการธุรกิจต่างมีความกังวลร่วมต่อการการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย
ดังนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" จึงสะท้อนมุมมอง "ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ตามที่ปรากฏดังนี้
ไตรมาส 2 ชี้การฟื้นตัวจีดีพีทั้งปี
"ดร.เบญจรงค์" ระบุว่า ขณะนี้ยังรอตัวเลขการเติบโตของจีดีพีไตรมาสแรกที่จะออกมาซึ่งผมคิดว่าไตรมาส 1 พอจะถึง 3% แต่กังวลไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นไตรมาสชี้การฟื้นตัวของทั้งปีนี้ในไตรมาส 3 และ 4 เนื่องจากไตรมาส 2 ช่องโหว่ของเศรษฐกิจ เพราะขาดปัจจัยหนุน โดยที่มาตรการภาครัฐเพิ่งจะสิ้นสุด ขณะเดียวกันภัยแล้งยังคงเกิดขึ้น ส่วนภาคการส่งออกแม้จะยังขยับจากที่ยังมีกลุ่มผู้ค้าทองคำมีกำไรแต่กลุ่มนี้Value Chain ไม่ยาวนัก ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีเราติดตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ หากสามารถเบิกจ่ายออกมาได้เร็วจะช่วยเติมช่องว่างไตรมาส 2 ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะดี นอกจากนี้หัวใจหลักของการฟื้นตัวครึ่งปีหลังยังขึ้นอยู่กับการพยากรณ์อากาศ(หัวเราะ) เพราะปัจจัยฝนตกจะช่วยลดปัญหาภัยแล้งและช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะทันทีที่มีฝนตกจะเริ่มเห็นการเพาะปลูกซึ่งจะเริ่มการใช้จ่ายของซัพพลายเชนภาคการเกษตรเริ่มมา ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ เครื่องจักร เหล่านี้จะทำให้เงินหมุนเวียนโดยไม่ต้องรอเวลาไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต
"ภัยแล้งอาจจะมีผลแรงขึ้นจากคาดการณ์ว่าฝนจะทิ้งช่วงพอสมควร ดังนั้นไตรมาส 2 อาจจำเป็นต้องมีปัจจัยพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราติดตามไตรมาส 2 อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นไตรมาสที่ขาดปัจจัยหนุนเป็นไตรมาสที่ชี้เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีหลังทั้งไตรมาส 3 และ4"
ส่วนปัจจัยภัยแล้งนั้น เบื้องต้นศูนย์ประเมินผลกระทบจากภัยแล้ง 8.4 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ถ้าเดือนพฤษภาคมฝนยังไม่มาหรือเลื่อนออกไปก็มีโอกาสที่จะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาทซึ่งมีผลต่อการเติบโตของจีดีพีที่ 1% เพราะในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐนั้นแม้จะชดเชยได้บ้างแต่ยากที่จะชดเชยในเชิงรายได้ภูมิภาค ซึ่งจริงๆ กลไกภาครัฐสามารถนำเงินลงสู่ฐานรากหรือระบบได้กว้าง
ปีนี้เอ็นพีแอลจากเอสเอ็มอีเป็นหลัก
ปีนี้เอสเอ็มอีประสบความยากลำบากมากที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างซึม, ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำมาหลายปีแล้วมาเจอภัยแล้งอีก ทำให้กำลังซื้อภูมิภาคหายไป ซึ่งเอสเอ็มอีจะประสบปัญหามากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยสะท้อนออกมาจากเอ็นพีแอลในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ที่เป็นขาขึ้นไปจนถึงสิ้นปี
จริงๆเรายังเห็นเอสเอ็มอีในหลายธุรกิจยังขยายตัวได้ จึงไม่มองว่าการเติบโตของเอสเอ็มอีจะติดลบ แต่จะเห็นว่าการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีเป็นไปด้วยความยากลำบากซึ่งต้องพึ่งตลาดในประเทศมากกว่าต่างประเทศ และการจะออกไปประเทศเพื่อนบ้านยังน้อย จึงทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศและประสบปัญหากำลังซื้อจากภัยแล้ง จะทำให้การฟื้นตัวของเอสเอ็มอีไม่สดใสอย่างที่หลายฝ่ายอยากเห็น
สำหรับปีนี้เรายังกังวลธุรกิจเอสเอ็มอีแทบทุกหมวดที่เกี่ยวโยงกับภาคการเกษตร แม้สัญญาณราคาสินค้าบางตัวจะดีขึ้นบ้างแต่ยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นปัจจัยระยะยาวที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรยืนอยู่ได้ นอกจากยังมีอุตสาหกรรมโลหะ และเหล็กยังได้รับผลกระทบจากจีนและกำลังการผลิตจีนที่ล้น
"ปีนี้เอ็นพีแอลเปลี่ยนเทรนด์ คือ ปัญหา 3 ปีที่ผ่านมานั้นจะเห็นปีแรกเป็นเอ็นพีแอลของสินเชื่อบริโภค ทั้งเช่าซื้อ บัตรเครดิต ถัดมาปีที่ 2พวกเอสเอ็มอีทดแทนมากขึ้นแต่ปีนี้เห็นเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผลสำรวจของแบงก์ชาติจะเห็นว่าแบงก์ระมัดระวังกันทั้งระบบ ซึ่งผมคิดว่าแต่ละแบงก์จะมีนโยบายแบ่งกลุ่มไหนเป็นกลุ่มจากการบริหารพอร์ตสินเชื่อที่เขามีอยู่"
แนะคลังรีวิว "ซอฟต์โลน" กระตุ้นกำลังซื้อภูมิภาค
สำหรับความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น ขณะนี้ยังมองปัจจัยลบมี 2 ตัวหลักๆ โดยศูนย์ประเมินความเสี่ยงต่างประเทศโดยยังกังวลเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก เพราะจีนมีผลต่อการฟื้นตัวของภาคเกษตรและการส่งออกไทยส่วนหนึ่ง และปัจจัยลบภายในประเทศคือ ภัยแล้งที่เราให้น้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลกระทบกว้าง ซึ่งเวลานี้ภัยแล้งเป็นตัวแปรที่ยังไม่นิ่ง แม้ว่าภาคเกษตรอาจจะมีผล 6-7% ของจีดีพีแต่ถ้ามองในส่วนของอุปสงค์แล้ว จะเห็นว่ากำลังซื้อที่หายไปของประชาชนต่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่พึ่งการบริโภคนั้นจะใหญ่กว่าสัดส่วนจากที่เคยคาดการณ์ไว้ 6-7% ของจีดีพี
ต่อข้อถามถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการคลังนั้น "ดร.เบญจรงค์" กล่าวว่า จริงๆกระทรวงการคลังยังมีเครื่องมืออีกมาก ซึ่งปีที่แล้วมีการกระตุ้นต่อเนื่อง โดยในปีนี้โครงการเมกะโปรเจ็กต์นั้นทางรัฐบาลมั่นใจจะทำได้หลายโครงการ และจากการสำรวจนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาเมืองไทยส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวครึ่งปีหลัง ซึ่งศูนย์คาดการณ์ภาคส่งออกไทยน่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังเช่นกันแต่แน่นอนทั้งปีจะเห็นการส่งออกหดตัว 4.5% ดังนั้นตอบคำถามเรื่องการใช้นโยบายการคลัง ขณะนี้ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องขาดมือแต่ธุรกิจยังดีอยู่ และอีกกลุ่มเป็นเอสเอ็มอีพวกทำธุรกิจขาดทุนและความสามารถในการชำระหนี้หายไป ตอนนี้ต้องใช้กลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ในการช่วยคุมความเสี่ยง แต่แน่นอนในการกระตุ้นกำลังซื้อภูมิภาคยังมีความจำเป็น ซึ่งโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนสามารถรีวิวตามความจำเป็น เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องขาดมือแต่ธุรกิจยังดีควรจะได้ซอฟต์โลน
ห่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า“ศก.ในประเทศ-กำลังซื้อชะลอ”
ที่ผ่านมาไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค.)ผลสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศจำนวน 1,272 กิจการ(ค้าส่ง/ปลีก 787 ผลิต 289และบริการ 246) พบว่าเจ้าของธุรกิจมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นติดต่อกันโดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับขึ้นจาก 40.5 เป็น 42.1เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส4/2558 หลังผ่านจุดต่ำสุดไตรมาส 3/2558ที่ระดับ 34.2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 ไตรมาสและครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 54.7 ลดลงจากระดับ 56.9สะท้อนความกังวลต่อรายได้ในช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจขาดปัจจัยหนุน ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัวถึง 57.4% ของผลสำรวจ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความกังวล โดยภาคใต้กังวลสูงสุด70% เพราะมีปัญหาต่อเนื่องทั้งภาคประมง ราคายางพารา ปาล์มน้ำมันและฤดูปิดกรีดยาง, ผลผลิตปาล์มลดลงขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังไปได้ดี รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(2)คิดเป็น 59.1% เนื่องจากปัญหาภัยแล้งราคาข้าวและมันสำปะหลังตกต่ำ และ ภาคกลาง(3)คิดเป็น 58.5%ปัญหาภัยแล้งส่งผลงดเพาะปลูกข้าวนาปรังและราคาข้าวตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม กรณีเดือนนี้ทางการกำหนดวันหยุดยาวต่อเนื่องนั้น ส่วนตัวเริ่มเห็นว่าการหยุดยาวนั้นธุรกิจเอสเอ็มอีบางกลุ่มไม่ได้รับแรงหนุนมากขึ้นจากวันหยุดยาว เช่น ภูมิภาคได้รับผลลบจากการหยุดยาว เห็นได้จากจังหวัดในภาคตะวันออกและภาคใต้เป็นพื้นที่การผลิต โรงงาน บริษัท ห้างร้าน เหล่านี้แนวโน้มของการทำธุรกิจเอสเอ็มอีอาจจะมีผลเสียมากกว่าที่จะได้รับจากวันหยุดยาว ดังนั้นวันหยุดยาวจึงมีทั้งผลบวกและลบซึ่งขึ้นอยู่กับภาคนั้นต้องพึ่งพากำลังซื้อหรือการใช้จ่ายจากคนกลุ่มไหน แต่แน่นอนสำหรับจังหวัดท่องเที่ยวจะได้รับอานิสงส์อยู่
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559