ราชบุรีโฮลดิ้งลุยธุรกิจแอลเอ็นจี เตรียมจับมือพันธมิตรลงทุนคลังแอลเอ็นจีกว่า 2 ล้านตัน พร้อมเข้าร่วมทุนกับปตท.ลงทุนที่เมียนมาอีก 3 ล้านตัน ป้อนโรงไฟฟ้าราชบุรีและในเครือ หวั่นกำลังการผลิตแหล่งก๊าซในเมียนมาหมดเร็วกว่ากำหนด "รัมย์"เผยอยู่ระหว่างร่วมประมูลโรงไฟฟ้าต่างประเทศเพิ่มอีก 3 โครงการพร้อมโครงการใหม่อีกเพียบ
แหล่งข่าวบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนลงทุนโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ลอยน้ำ(FSRU) ซึ่งล่าสุดระหว่างหารือกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ผลิตแอลเอ็นจีในต่างประเทศ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เนื่องจากต้องการเตรียมแผนก๊าซเพื่อป้องกันความเสี่ยงหากกำลังการผลิตจากแหล่งก๊าซในเมียนมา ได้แก่ แหล่งยาดานา เยตากุน และซอติกา หมดเร็วกว่าแผนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดหาก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตก รวมถึงโรงไฟฟ้าราชบุรี กำลังการผลิต 3.6 พันเมกะวัตต์ ที่ยังเหลือระยะเวลาขายไฟฟ้าอีก 10 ปีด้วย
โดยเบื้องต้นบริษัทจะหารือกับ ปตท. เพื่อร่วมทุนโครงการ FSRU ขนาด 3 ล้านตันในเมียนมาของ ปตท. และหาก ปตท.สามารถจัดหาก๊าซเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าราชบุรีได้ตามปกติ บริษัทก็จะรับซื้อก๊าซจาก ปตท.ต่อไป แต่ในส่วนของการลงทุนโครงการ FSRU ร่วมกับพันธมิตรรายอื่นนั้นก็ยังคงเดินหน้าเพื่อป้อนก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าในเครือบริษัทและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยในส่วนของพื้นที่อาจอยู่เมียนมาหรือประเทศไทย และมีขนาดไม่น้อยกว่า 2 ล้านตัน หรือป้อนโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 2 พันเมกะวัตต์ได้ คาดว่าจะมีความชัดเจนในอีก 2 ปีข้างหน้า
"ทาง กฟผ. กำลังศึกษาคลังแอลเอ็นจี FSRU เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งบริษัทก็สนใจลงทุนในธุรกิจนี้เช่นกัน โดยปกติการซัพพลายก๊าซจะต้องมีมากกว่า 1 ราย เพื่อป้องกันความเสี่ยง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ทาง กฟผ. จะร่วมทุนกับบริษัท หรืออย่างน้อยอาจทำสัญญารับซื้อก๊าซจากบริษัท เพื่อกระจายความเสี่ยง ตอนนี้หารือกับพาร์ตเนอร์หลายราย เพื่อเข้าไปลงทุนในธุรกิจแอลเอ็นจี เบื้องต้นคงเป็นการเซ็นสัญญาซื้อจากผู้ผลิตระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ส่วนจะมีการลงทุนในแหล่งแอลเอ็นจีหรือไม่นั้น คงต้องรอความชัดเจนจากทางบอร์ดต่อไป"แหล่งข่าวกล่าว
นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจลงทุนโครงการแอลเอ็นจี โดยหารือไว้หลายราย ทั้ง ปตท.และ กฟผ. ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการลงนามสัญญา(เอ็มโอยู)ร่วมกับ ปตท.เพื่อศึกษาโครงการแอลเอ็นจีร่วมกัน ขณะที่ในส่วนของ กฟผ.ก็หารือเช่นกัน
ขณะที่ผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตจากปีก่อน ซึ่งรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ในสปป.ลาว ทั้ง 3 หน่วย ,โรงไฟฟ้าราชบุรี เวอลด์โคเจนเนอเรชั่น และโรงไฟฟ้านวนคร เพิ่มเข้ามากำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดเตรียมเข้าประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซ RIAU ในอินโดนีเซีย ของ Medco Energiกำลังผลิต 250 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะเข้าถือหุ้น 49%
นอกจากนี้ยังเตรียมประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน SUMSEL 5 ในอินโดนีเซีย สัดส่วน 33% โดยจะยื่นประมูลภายในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาซื้อหุ้นโรงไฟฟ้า GN POWER ในฟิลิปปินส์ สัดส่วน 30% โดยในปีนี้บริษัทเตรียมเงินลงทุนไว้ 1 หมื่นล้านบาท ใช้สำหรับโครงการที่อยู่ในแผน อาทิ โรงไฟฟ้า นวนคร จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(ซีโอดี)เดือนมิถุนายน 2559 ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม)ญี่ปุ่น ซีโอดีปี 2560 ,โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ซีโอดีปี 2562 และโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น ซีโอดี 2562 ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษายังไม่ถูกรวมไว้ในแผน ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดในมือ 8 พันล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทยังมีโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมพร้อมลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว โครงการส่วนใหญ่เป็นประเภทกรีนฟิลด์ อาทิ โครงการพลังงานลม และแสงอาทิตย์ในออสเตรเลีย โครงการพลังน้ำใน สปป. ลาว โครงการชีวมวล และโครงการผลิตไฟฟ้านวนคร เฟสที่ 2
สำหรับกำลังการผลิตของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 6.41 พันเมกะวัตต์ จะเพิ่มเป็น 6.81 พันเมกะวัตต์ในปี 2562
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559