ลดราคาปุ๋ย-เคมีเกษตร ดีเดย์1มิ.ย.ซื้อใจชาวนาชาวสวน/238บริษัทแห่ร่วม

27 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
เกษตรกรกว่า 6 ล้านครัวเรือนได้เฮรับฝนแรก เริ่มต้นฤดูการเพาะปลูกใหม่ ก.เกษตรฯสั่งลุยโครงการประชารัฐ ผนึก 7 สมาคมค้าปัจจัยการผลิตเอาใจลดราคาปุ๋ย20-50 บาท/กระสอบ สารเคมี 50-100 บาท/ขวด ดีเดย์ 1 มิ.ย.-30 ก.ย. คาดงานนี้ช่วยเกษตรกรประหยัดเงินร่วมพันล้าน สมาคมค้าปุ๋ยฯ ดึง 5 แบรนด์ดังร่วมลด 6.7 หมื่นตัน ปูพรมตลาดนัด 9 แห่ง ด้านแล้งกระทบหนัก 2 บิ๊กเมล็ดพันธุ์ข้าว “เครือซีพี-ล้านช้าง” ถอดใจเลิกผลิต

จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเริ่มต้นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งสัญญาณให้เกษตรกรทั่วประเทศได้เริ่มลงมือทำการเพาะปลูกในฤดูการผลิตใหม่ 2559/2560 ที่กำลังมาถึง ส่งผลให้มีความเคลื่อนไหวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ในโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และในราคาที่เป็นธรรม

[caption id="attachment_56400" align="aligncenter" width="700"] สถิติการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย สถิติการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย[/caption]

 ดันนโยบายพลังประชารัฐ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โครงการดังกล่าว พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมการค้าปัจจัยการผลิต 7 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทยสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีแนวทางดำเนินการผ่าน 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การสร้างเครือข่ายผู้ผลิตปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ 2.พัฒนาต้นแบบความร่วมมือด้านปัจจัยการผลิตตามแนวทางประชารัฐในพื้นที่แปลงใหญ่ 3. จัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพ 4.กิจกรรมส่งเสริมการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และ 5. ส่งเสริมร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพ

ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งประเทศรวมกว่า 6 ล้านครัวเรือน ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม้ผล พืชไร่ และยางพารา เป็นต้น จากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งทางรัฐมนตรีเกษตรฯและรัฐบาลเองต้องการให้เกษตรกรได้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อได้รับผลตอบแทนจากผลผลิตอย่างคุ้มค่า

 238 บริษัทแห่ร่วม

"จากภารกิจดังกล่าวทางกรมจึงได้ขอความร่วมมือจาก 7 สมาคม ให้ส่งรายชื่อบริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยล่าสุดมีจำนวน 238 บริษัท โดยจะร่วมกันลดราคาในลักษณะแจกคูปองติดข้างผลิตภัณฑ์ หรือมอบให้กับร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการกว่า 2 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศส่วนใหญ่เป็นร้านค้าที่แนะนำจาก 7 สมาคมส่งรายชื่อมาให้ ทางกรมจะให้ร้านค้ากลุ่มนี้ต้องพัฒนาให้ถึงมาตรฐาน Q-Shop และสัญลักษณ์โครงการประชารัฐ จะติดอยู่หน้าร้าน เพื่อให้เกษตรกรสังเกตเห็นเข้าไปซื้อของได้ในราคาที่ยุติธรรม"

 ปุ๋ยลด 20-50 บาท/กระสอบ

ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลจะช่วยค่าส่งเสริมทางการตลาดให้กับเอกชน แม้ช่วงนี้ทุกบริษัทมีโปรโมชัน ลด แลก แจกแถม อยู่แล้ว แต่ให้มาทำโครงการร่วมกัน มองในแง่ธุรกิจถือว่า วินวิน โดย เกษตรกรจะได้ของดี มีคุณภาพ เพราะกรมวิชาการเกษตรจะไปควบคุมคุณภาพถึงโรงงานผลิต ส่วนเอกชนก็ได้ยอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยหากเปรียบเทียบราคาปุ๋ยที่เอกชนแจ้งลดราคาไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เฉลี่ยจะลดราคาปุ๋ยเคมีตันละ 100 บาท แต่ส่วนในโครงการประชารัฐ จะลดราคาปุ๋ยเคมี/อินทรีย์ เฉลี่ยกระสอบละ 20-50 บาท (ขนาดกระสอบ 50 กิโลกรัม) คิดโดยปริมาณตันเท่ากับ 20 กระสอบ สามารถลดได้ 400-1 พันบาท/ตัน ส่วนสารเคมีกำจัดวัชพืชลดได้ 50-100 บาท/ขวด

 สกต.ธ.ก.ส. 77 จังหวัดแจม

ขณะเดียวกันโครงการยังร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจะเปิดช่องทางให้ 237 บริษัท ให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.)ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ให้มาคัดเลือกสินค้าคุณภาพโดยตรงให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันสัดส่วน 80 % ของเกษตรกรเป็นลูกค้าของ สกต.อยู่แล้ว

"โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จะเริ่มจำหน่ายและลดราคาสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน -30 กันยายนนี้ ซึ่งจากการประเมินคร่าวๆ คาดจะช่วยเกษตรกรประหยัดเงินในกระเป๋าทั้งโครงการไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท"

 นำเข้าปุ๋ยต่ำสุดรอบ 5 ปี

นายสมชาย กล่าวอีกว่า จากสถิติการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2559) ลดลงทั้งปริมาณ และมูลค่า โดยปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมี ในปี 2558 ลดลงเหลือเพียง 4.6 ล้านตัน (ดูตารางประกอบ) ส่วนในปี 2559 ยอดการนำเข้า 3 เดือนแรกมีปริมาณ 1.8 ล้านตัน ขณะที่ไทยมียอดส่งออกปุ๋ยเคมี ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้กว่า 3 แสนตัน สมมติฐานคาดว่าจะมาจากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งเกษตรกรไม่ได้ซื้อปุ๋ยเคมี เพราะพื้นที่ทำนาลดลง ด้านหนึ่งถือเป็นความสำเร็จในการลดพื้นที่นา แต่อีกด้านหนึ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรคือใช้เท่าที่จำเป็น หรืออาจจะเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น เห็นได้จากมีบริษัทผู้ผลิตและจดทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น มองว่าเทรนด์มาถูกต้องแล้ว ในส่วนของกรมจะทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานเต็มขนาดของสูตรที่ได้ระบุไว้

 จัดแอพพลิเคชันสืบค้น

ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานพิธีลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) และประกาศเจตนารมณ์หน่วยงานรัฐกับ 7 สมาคมผู้ผลิตและผู้ค้าปัจจัยการผลิต (24 พ.ค.59) ว่า เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือ รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินงาน โดยจะเปิดรับสมัครบริษัทให้เข้าร่วมโครงการ และให้จัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตปัจจัยการผลิตคุณภาพเพื่อให้เกษตรกร สหกรณ์ และร้านจำหน่ายสามารถสืบค้นได้โดยผ่านระบบแอพพลิเคชัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมผ่านตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ ผ่าน 9 สหกรณ์ ซึ่งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้

"การที่จะทำให้เกษตรกรผลิตและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่านั้นจำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นในคุณภาพของปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการเข้าถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในราคาที่เป็นธรรม ประการสำคัญที่สุดต้องใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างมีความรู้ความเข้าใจจึงจะเกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงได้ผลผลิตที่ดีด้วย"

 ตลาดนัดปุ๋ย-ยาถูกเป้า 9 แห่ง

ขณะที่นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว ทางกรมรับนโยบายที่จะจัดตลาดนัดจำหน่ายปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ราคาถูกในพื้นที่ที่มีความพร้อม 9 แห่ง คาดแห่งแรกจะจัดที่สหกรณ์การเกษตรท่าเรือ จํากัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะมีความพร้อมที่สุด ส่วนอีก 8 แห่ง อยู่ในระหว่างการคัดเลือกอยู่ คาดว่าการจัดการครั้งนี้เกษตรกรจะได้ปุ๋ย สารเคมี เรียกว่าของดีราคาถูก ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

 5ยี่ห้อดังปุ๋ยเคมีร่วมลด

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยว่า สมาคมได้ให้ความร่วมภาครัฐโดยเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ โดยจะร่วมจัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ ณ สถานที่เครือข่ายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ 9 แห่งคิดเป็นปริมาณปุ๋ยเคมีทั้งสิ้น 6.7 หมื่นตัน จากผู้ผลิต 5 ราย ที่จะนำสินค้ามาลดราคาได้แก่ 1.บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)(บมจ.) แบรนด์ ตราหัววัว-คันไถ สูตร 46-0-0 และสูตร 21-0-0 สูตร 0-0-60 สูตร 16-20-0 สูตร 16-16-8 สูตร 18-4-5 สูตร 14-4-9 สูตร 15-7-18 และ 15-15-15

2.บริษัท เจียไต๋ จำกัด (บจก.)ปุ๋ยตรากระต่าย อาทิ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0) สูตร 15-15-15 สูตร 18-46-0 สูตร 0-0-60 3.บจก.โรจนกสิกิจเฟอร์ติไลเซอร์ ปุ๋ยตราเรือไวกิ้ง สูตร 16-20-0 สูตร 16-16-8 สูตร 46-0-0 สูตร 21-7-14 สูตร 16-16-16 4. บจก.ยารา (ประเทศไทย ) ปุ๋ยตรา ยารา สูตร 46-0-0 สูตร 15-15-15 และ 5.กลุ่มบริษัท ไอซีพี เฟอทิไลเซอร์ จำกัด และบจก.ไอซีพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปุ๋ยตราม้าบิน โดยลดราคาทุกสูตร

 40 บริษัทยาศัตรูพืชไม่พลาด

ด้านดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล อดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่าในส่วนของยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช 7 สาร ประกอบด้วย ไกลโฟเสต 48% SL, พาราควอต 27.6% SL, บิวทาคลอร์ 60% EC, 2,4-ดี 95%, โพรทานิล,บิสไพริแบก–โซเดียม 10% SC และเพรทิลลาคลอร์ 30% EC ในครั้งนี้จะมีทั้งหมด 40 บริษัท (จากกว่า 100 บริษัท)ที่จะเข้าร่วมโครงการ เชื่อว่าทุกบริษัทจะพร้อมใจ เร่งระบายสินค้า จากที่ผ่านมาในรอบ 5 ปีปริมาณการใช้สารเคมีในประเทศลดน้อยลงมาก โดยหายไปถึง 30% ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสารเคมียังปกติ ส่งผลทำให้บริษัท ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วแบกสต๊อกมากสูงมาก อย่างไรก็ดีการลดราคาครั้งนี้มองว่าคงไม่จูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวนาเพราะราคาข้าวไม่จูงใจ จึงประเมินว่าจะซื้อใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

 แล้งกระทบหนักพันธุ์ข้าว

นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา นายกสมาคมผู้รวบรวม และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งไม่มีน้ำทำนาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าว และลดการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว กระทบต่อเนื่องถึงผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปสีแปรสภาพเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่าย (เพราะข้าวเสื่อมตามอายุการเก็บ และมีผลต่ออัตราการงอก) ทั้งนี้คาดผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในปีนี้จะเหลือประมาณ 1 แสนตัน จากทุกปีที่เคยผลิต 3 แสนตัน

"ผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ข้าว เวลานี้มีทั้งเลิกกิจการ และไปทำธุรกิจอื่น ภาพรวมหายไปประประมาณ 30% แม้กระทั่ง 2 บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวรายใหญ่ อย่างกลุ่มซีพี และกลุ่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เครือเบียร์ช้าง ในนามบริษัท ล้านช้าง ดีเวลลอปเม้นท์ฯ ยังต้องล้มเลิกกิจการไปเลย ขณะที่เวลานี้ราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวของไทยราคาโดยเฉลี่ยทุกสายพันธุ์ อยู่ที่ 14-16 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนที่ 13 บาท ซึ่งราคานี้ถือว่าต่ำสุดในอาเซียนแล้ว โดยเมื่อเทียบกับเมล็ดพันธุ์ข้าวของเมียนมาเฉลี่ยที่ 22 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามที่ 25 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นทางสมาคมจึงเน้นรณรงค์ให้ความรู้ชาวนาลดการใช้เมล็ดพันธุ์ในการปลูกลงเหลือ 15 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ 200 บาทต่อไร่"

 2 บิ๊กยันเลิกผลิตจริง

นายโยทัย จาง ผู้อำนวยการ บจก.ล้านช้างดีเวลลอปเม้นท์ ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวยี่ห้อ พันธุ์ข้าวล้านช้าง กล่าวว่า ผลกระทบจากภัยแล้ง ไม่มีน้ำใช้ในการผลิต ทางบริษัทได้ชะลอการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าว ออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยได้หยุดดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2558

ส่วนแหล่งข่าวจากกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือซีพีกล่าวว่า ทางกลุ่มได้หยุดดำเนินการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวตั้งแต่ต้นปี 2559 เพราะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะปลูกข้าว ส่วนในฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ ทางผู้บริหารกำลังจะประเมินว่าควรจะปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือไม่ หรือจะชะลอออกไปไม่มีกำหนด เพราะอีกส่วนก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลการลดพื้นที่การทำนาด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559