"ไทยสมายล์"มั่นใจปีนี้โกยกำไรเป็นปีแรกราว 400 ล้านบาท ส่วนรายได้ทะลุ 1.05 หมื่นล้านบาทจากแผนปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่ โฟกัสขยายจุดบินต่างประเทศเป็นหลัก ตั้งเป้าเปิด 14 จุดบินใหม่ เน้น 8-10 เส้นทางบินสู่จีนตรงเข้าภูเก็ต- เชียงใหม่ รับทัวร์จีนโตต่อเนื่อง และอีก3 เมืองรองของอินเดีย หวังเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินอีก 20-25% ส่วนปีหน้าเริ่มบินอาเซียนดันเป้ารายได้1.1-1.2 หมื่นล้านบาท
นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์ จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าจากยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของสายการบินที่มุ่งการขยายเส้นทางบินออกสู่ต่างประเทศเป็นหลักในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวทำให้มั่นใจว่า 2559 จะเป็นปีแรกที่มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจ โดยคาดการณ์ว่าจะมีกำไรอยู่ที่ราว 400 ล้านบาท จากเป้าหมายรายได้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.05 หมื่นล้านบาท ถือว่าเติบโตสูงมาก หากเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีรายได้อยู่ที่ราว 5 พันล้านบาท และยังขาดทุนอยู่หลักพันล้านบาท
การเติบโตของรายในปีนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงมาก เห็นสัญญาณชัดเจนจากผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สายการบินมีรายได้อยู่ที่ราว 1.9 พันล้านบาท ถือว่าเติบโตเกือบเท่าตัวหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รวมทั้งในปีนี้จะเน้นเปิดทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งจุดบินสู่จีนและอินเดีย ทำให้สามารถบริหารจัดการการใช้ประโยชน์เครื่องบินได้เพิ่มขึ้นอีก 20-25% โดยปีที่ผ่านมามีอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในปีนี้จะเพิ่มเป็น 9.2 ชั่วโมงต่อวัน
เนื่องจากการเปิดเส้นทางบินสู่ต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เครื่องบินสามารถนำมาใช้บินได้ในช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้า ขณะเดียวกันยังขายตั๋วโดยสารได้ราคาที่ดีกว่าด้วย เพราะที่ผ่านมาไทยสมายล์ให้บริการอยู่ราว 40 เที่ยวบินต่อวัน แต่กว่า 90 % เป็นเส้นทางบินภายในประเทศ เครื่องบินส่วนใหญ่จะใช้ช่วงกลางวันเป็นหลัก อีกทั้งยังการแข่งขันตัดราคาขายเส้นทางบินในประเทศมีสูงมากทำให้ได้ราคาขายไม่ได้สูงนัก และมีเพียง 10% ที่บินเส้นทางต่างประเทศ คือมาเก๊า เสียมราฐ และย่างกุ้ง
" ประกอบกับในปีนี้จะมีฝูงบินเพิ่มจากขึ้นปีที่ผ่านมา 25% เพราะจนถึงปลายปีนี้ ไทยสมายล์จะมีเครื่องบินแอร์บัสเอ320-200 ให้บริการรวม 20 ลำ จากปีที่ผ่านมามี 15 ลำ ซึ่งจะเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจไปจนถึงสิ้นปี 2560 ภายใต้กลยุทธการโฟกัสเส้นทางบินใน 3 จุด คือ จีน อินเดีย ในปีนี้ และอาเซียนที่จะเริ่มขยายเพิ่มขึ้นในปีหน้า"
นายวรเนติ กล่าวอีกว่า ปีนี้สายการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ไชน่า โฟกัส โดยได้เริ่มทำการบินเข้าเมืองฉางชา ไปแล้วเมื่อต้นปี และปลายปีนี้จะเห็นจุดบินสู่จีนอีก 8-10 จุดบินที่จะเกิดขึ้นในรัศมีการบินที่ใช้ระยะเวลา 3-4 ชั่วโมง โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป จะเปิดเส้นทางบิน ไปยังเมือง ฉงชิ่ง หางโจว เจิ้นโจว จากนั้นก็จะทยอยเปิดจุดบินสู่ ซัวเถา กุ่ยหยาง เซินเจิ้น เหยียนเฉิน เทียนสิน เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทย ขณะเดียวกันยังมีการปรับโครงสร้างองค์กร รับพนักงานต้อนรับที่สามารถพูดภาษาจีนได้เข้ามาร่วมงานเพื่อรองรับการขยายเน็ตเวิร์คในเส้นทางดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการประสานกับเอเย่นต์ทัวร์ในแต่ละเมืองของจีนรวมถึงเน้นการทำตลาดแบบออนไลน์ ผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ก ที่ใช้กันแพร่หลายของคนจีน โดยไทยสมายล์ได้ประสานกับทางวีแชท (WeChat) หรือ Weibo และจะเปิดสำนักงานของสายการบินที่เมืองเสินเจิ้น เพื่อรองรับการขยายเน็ตเวิร์คสู่เมืองจีน เพราะปัจจุบันรัฐบาลจีนวางนโยบายชัดเจนที่จะทำให้เมืองเสินเจิ้น เป็นศูนย์กลางการเงินแห่งใหม่ของจีน และยังเป็นเมืองที่อยู่ตรงกลางระหว่างกวางเจาและฮ่องกง ลงไปทางใต้ก็เป็นเมืองจูไห่ และมาเก๊า ทำให้เมืองนี้จึงถือว่าเป็นจุดศูนย์กลาง สายการบินจึงเลือกเปิดสำนักงานที่เมืองนี้
ดังนั้นในช่วงกรกฏาคมนี้ถึงสิ้นปีนี้ จะทยอยเปิดเส้นทางบิน เสินเจิ้น-เชียงใหม่, เสินเจิ้น-ภูเก็ต ,กุ้ยหยาง-ภูเก็ต,หางโจว-ภูเก็ต,ฉางซา-ภูเก็ต,เจิ้นโจว-ภูเก็ต,เหยียนเฉิน-กรุงเทพฯ,เทียนสิน-กรุงเทพฯ ซึ่งการเน้นขยายจุดบินในเมืองจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลังการเปิดบินในเส้นทางจากกรุงเทพฯสู่เมืองฉางชา เมื่อต้นปี พบว่าได้รับการตอบรับดีมาก มีอัตราการบรรทุกเฉลี่ย(เคเบิล แฟกเตอร์)สูงถึง 75-80% โดยกว่า 70% เป็นนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย ส่วน 30% เป็นนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปเที่ยวจางเจียเจี้ย ทำให้มั่นใจถึงกระแสการตอบรับที่ดีจากจุดบินอื่น ๆ ในจีนที่จะขยายอีก 8-10 จุดบินภายในปลายปีนี้
"การเข้าไปเปิดเส้นทางบินสู่จีน ผมมองว่าเป็นการแข่งขันกับสายการบินต่างๆของจีนเป็นหลัก เพราะทุกวันนี้มีสายการบินของจีนทำการบินเข้าไทยมากถึง 4 เท่า อาทิ ไชนา เซ้าท์เทิร์น ไชน่าอีสเทิร์น ที่มีการเพิ่มเที่ยวบินรองรับมากมาย ซึ่งไทยสมายล์มองเห็นโอกาสในการเข้าไปเจาะตลาดนี้ เพราะเรามีจุดเด่นในเรื่องการให้บริการที่ดีกว่าสายการบินของจีน และมีการให้บริการแบบฟูลเซอร์วิส มีบริการอาหารร้อนและไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มอีก"
นาย วรเนติ ยังกล่าวต่อว่า นอกจากการเปิดจุดบินสู่เมืองจีนแล้ว ไทยสมายล์ ยังมีแผนเปิดจุดบินเข้าอินเดีย ใน 3 เมือง ได้แก่ เมืองLucknow , Chandigarh ,Jaipur ซึ่งจะเปิดบินในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเมืองเหล่านี้เพราะเป็นเมืองที่มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ อย่างJaipurเป็นเมืองค้าขาย มีจุดเด่นว่าเป็นเมืองเพชรสีชมพู หรือเมือง Lucknow สามารถไปพุทธคยาและพาราณสีได้ ซึ่งผู้โดยสารที่ใช้บริการในเส้นทางอินเดีย มีทั้งคนอินเดียที่มาเที่ยวเมืองไทย ผู้โดยสารที่เดินทางมาต่อเครื่องบินที่กรุงเทพฯรวมถึงผู้โดยสารจากอินเดีย ที่มาใช้บริการต่อเที่ยวบินของการบินไทย เพื่อเดินทางไปยังทวีปอื่นๆ อย่างออสเตรเลีย เป็นต้น
ขณะเดียวกันในปีนี้ยังมีบางเมืองในอาเซียน ที่ไทยสมายล์ จะเข้าไปทำการบินเสริมให้การบินไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนการลดต้นทุนที่ใช้เครื่องบินของไทยสมายล์ที่มีขนาดเล็กกว่า เข้าไปบินเสริมแทนการใช้เครื่องบินใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณของผู้โดยสาร ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ จะเริ่มเข้าไปบิน ในเส้นทางสู่เวียงจันทน์ เส้นทางสู่พนมเปญ และในเดือนตุลาคมนี้ จะบินในเส้นทางหลวงพระบาง
อย่างไรก็ตามการขยายเครือข่ายเส้นทางบินที่จะเกิดขึ้นรวม 14 จุดบินใหม่ในปีนี้ ส่งผลให้ไทยสมายล์มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มจาก 43 เที่ยวบินต่อวันเป็น 57 เที่ยวบินต่อวัน อีกทั้งทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีหน้าสายการบินก็กำลังศึกษาการเปิดจุดบินใหม่ในอาเซียน เพื่อตอบรับกับนโยบายอาเซียน คอนเน็กต์ ของรัฐบาล โดยมองไว้ 2-3 เมือง อาทิ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมืองสุราบายา เมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
ขณะที่เป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีหน้าวางเป้าหมายการเติบโตอยู่ที่ 5-7%ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท มีกำไรราว 600-800 ล้านบาท ซึ่งแผนในการขยายเส้นทางบินจะโฟกัสอาเซียน อินเดีย และจีน และตั้งเป้าเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินเฉลี่ยอยู่เพิ่มเป็น 11 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนการขยายเส้นทางบินในประเทศ คงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะการแข่งขันสูงและหากทิศทางในการดำเนินธุรกิจมีการเติบโตต่อเนื่องเช่นนี้คาดว่าภายใน 4 ปีจะสามารถล้างภาระการขาดทุนสะสมหลักพันล้านบาทได้ทั้งหมด นายวรเนติกล่าวในที่สุด
อนึ่งสายการบินไทยสมายล์ ถูกจัดให้เป็นการดำเนินงานภายใต้หน่วยธุรกิจหนึ่งของการบินไทย ตั้งแต่เดือนกรกกฏาคมปี 2555 ต่อมาในปี2557 ได้แยกออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย และเพิ่งดำเนินการจัดทำระบบการขายแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559