การเปลี่ยนระบบภาษีธุรกิจ (Business Tax) เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) ใน 4 ภาคธุรกิจที่เหลืออยู่ เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว คาดรัฐจะเก็บภาษีได้น้อยลง 5 แสนล้านหยวนต่อปี
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 รัฐบาลจีนประกาศขยายภาคธุรกิจที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี จากภาษีธุรกิจ (Business Tax) เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) ในธุรกิจ 4 ภาค ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการก่อสร้าง ภาคบริการทางการเงิน และภาคบริการผู้บริโภค ซึ่งเป็น 4 ภาคธุรกิจกลุ่มสุดท้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้าง จะคิดภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 11% ในขณะที่ธุรกิจภาคบริการทางการเงินและภาคบริการผู้บริโภค จะคิดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 6%
หลังจากประเทศจีนเริ่มนำภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาใช้แทนภาษีธุรกิจครั้งแรก เมื่อปี 2555 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจจำนวน 10 ล้านบริษัททั่วประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ชำระภาษีให้แก่รัฐบาลในสัดส่วน 80% ของภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ทั้งหมด
นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า ในปี 2559 นี้รัฐบาลจีนต้องอัดฉีดเม็ดเงิน 2.18 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 560 พันล้านหยวน เพื่อชดเชยภาษีที่จะจัดเก็บได้ลดลง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนระบบภาษีดังกล่าว จะช่วยลดการเก็บภาษีซ้ำซ้อนและช่วยผลักดันให้ธุรกิจภาคบริการเติบโตขึ้น อนึ่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) แตกต่างจากภาษีธุรกิจ (Business Tax) ที่สามารถสะท้อนรายได้ของธุรกิจชัดเจนขึ้น ไม่เกิดการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มคิดจากราคาขายหักลบต้นทุนการผลิตของสินค้านั้นๆ
ภาคการเงินทั่วโลกจับตามอง
จีนเป็นประเทศแรกในโลกที่นำเอาระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาใช้กับธุรกิจภาคบริการทางการเงิน เพราะแม้หลายประเทศในทวีปยุโรปจะเริ่มศึกษาระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในภาคการเงินมากว่า 10 ปี แล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้สำเร็จ จึงนับว่าเป็นความท้าทายของจีนที่ต่างชาติจับตามอง ผู้นำภาคบริการทางการเงินของจีนเอง ก็คาดหวังให้รัฐบาลประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้ชัดเจนและละเอียดมากยิ่งขึ้น เพื่อการดำเนินการที่ถูกต้อง
นายแมทธิว หว่อง ผู้บริหารฝ่ายภาษีของบริษัท PwC ประจำประเทศจีน กล่าวว่า หลังจากได้พูดคุยกับธนาคารอื่นๆ ยังไม่พบว่าภาษีที่ธนาคารต้องจ่ายให้รัฐจะลดลงได้อย่างไร เพราะอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (6%) ก็สูงขึ้นกว่าอัตราภาษีธุรกิจในอดีต (5%) อีกทั้งธุรกิจบริการทางการเงินนับเป็นธุรกิจที่ยากจะระบุ "มูลค่าเพิ่ม" เพื่อนำไปคำนวณภาษี
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีในครั้งนี้ จะส่งผลต่อวิธีการคิดคำนวณ การออกรายงานของธนาคารและสถาบันการเงิน รวมทั้งสัญญาที่ธนาคารทำต่อลูกค้าก็อาจต้องมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง โดยหากเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ อาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะสามารถผลักภาระมูลค่าภาษีที่สูงขึ้นไปให้แก่ลูกค้า แต่หากเป็นธนาคารขนาดกลางและเล็ก อาจไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
นายเคเน็ท เหลียง ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่ง กล่าวว่า ธนาคารต้องสื่อสารกับลูกค้า สำนักงานสรรพากร ผู้ให้บริการไอทีและฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขระบบการคำนวณภาษีของธนาคารให้สอดรับการกฏหมายฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าธนาคารขนาดใหญ่น่าจะมีค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ประมาณ 400 ล้านหยวน
โรงแรมหรูปรับราคาห้องพัก
แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานสรรพากรจีนและกระทรวงการคลังจีน จะออกมาระบุว่า การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีในครั้งนี้ จะส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการแบกรับภาระภาษีลดน้อยลงก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่กฎหมายใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้วันแรก เครือโรงแรมในจีนหลายแห่ง อาทิ Hilton Hotels & Resorts, Hyatt Hotels Corp, Marriott International Inc เป็นต้น ต่างเพิ่มราคาห้องพัก โดยคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 6% เพิ่มเข้าไปในค่าใช้จ่าย โดยมิได้หักลบภาษีธุรกิจ 5% ออก
สำนักงานสรรพากรเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิได้หักลบภาษีธุรกิจออกนั้น จัดเป็นความผิดตามกฎหมาย สำนักงานสรรพากรเซี่ยงไฮ้ได้เรียกเครือโรงแรมทั้งหมดเข้าประชุมเพื่อชี้แจง ในเรื่องนี้แล้ว โดยหลังจากการประชุม เครือโรงแรม Inter-Continental Hotels Group Plc เป็นเครือโรงแรมแห่งแรกที่ได้ยกเลิกภาษีธุรกิจออกจากค่าใช้จ่ายห้องพัก โดยเหลือไว้เพียงค่าบริการ (Service Fee) ที่ 10% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 6.6% ของค่าห้องพักและบริการต่างๆ ของโรงแรม
โรงแรมในเครือ Hilton Shanghai ในเครือ Hilton Hotels & Resorts ได้ประกาศบนเว็บไซต์ของโรงแรมว่าลูกค้าจะต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม 6% โดยคิดเพิ่มเติมจากค่าบริการ (Service Fee) ที่ 10% และภาษีธุรกิจที่ 5% นั่นหมายความว่า ห้องพักโรงแรมราคา 1,500 หยวน ลูกค้าจะต้องชำระเงินที่ 1,500 หยวน + ค่าบริการ 150 หยวน + ภาษีธุรกิจ 75 หยวน และ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 90 หยวน รวมเป็น 1,815 หยวน ซึ่งสำนักงานสรรพากรที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าในเร็วๆ นี้ ทางหน่วยงานจะส่งทีมออกสำรวจเพื่อจับปรับตามกฎหมายต่อไป
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับลู่ทางการค้า-การลงทุนและความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) www.thaibizchina.com หรือช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559