ภาคเอกชน ยังไม่มั่นใจยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปีนี้ได้ตามเป้าบีโอไอ 4.5 แสนล้านบาท ชี้ผังเมืองรวมจังหวัดระยองที่ยังไม่ชัดเจนเป็นอุปสรรค ฉุดคลัสเตอร์ปิโตรเคมีไม่เกิด ขณะที่บีโอไอเห็นทิศทางการลงทุนที่ดี ทั้งปีมีแนวโน้มยื่นขอส่งเสริมทะลุเป้าหมายได้ พร้อมเร่งเจาะลึกรายโครงการ แก้ปัญหาเอกชนที่ยังไม่ลงทุนจริง อีกกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้ตั้งเป้าหมายการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายว่าภายในปีนี้คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาทนั้น ทางภาคเอกชนมองว่า อาจเป็นไปค่อนข้างอยาก หากภาครัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาอุปสรรคหรือความชัดเจนในการประกาศผังเมืองรวมของจังหวัดระยองภายในปีนี้ได้ ก็จะทำให้นักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นหรือตัดสินใจที่จะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนได้
โดยเฉพาะคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งชัดเจนว่ามีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน และแต่ละโครงการมีเงินลงทุนค่อนข้างสูง ต้องการเข้าไปลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อต่อยอดปิโตรเคมีที่ได้ลงทุนไปแล้วในการสร้างมูลเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ กำลังรอความชัดเจนของผังเมืองรวมระยอง รวมถึงคลัสเตอร์อื่นๆ ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย หากไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ จึงคาดว่าการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอดังกล่าว อาจจะไม่เป็นเป็นไปตามเป้หมายที่วางไว้ได้ เพราะไม่มั่นใจว่ายื่นขอส่งเสริมไปแล้ว จะได้รับอนุญาตก่อสร้างโรงงานได้หรือไม่ และอาจจะชะลอการลงทุนไปก่อน เพื่อให้การแก้ไขผังเมืองได้ข้อยุติไปก่อน และบีโอไอต้องเข้าไปเคลียร์จุดนี้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนให้ได้
ขณะที่นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกนี้บีโอไอยังตั้งเป้าหมายที่จะมีนักลงทุนมาขอยื่นส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ราว 1 แสนล้านบาท และครึ่งปีหลังอีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาในการเร่งส่งเสริมการลงทุนที่จะให้สิทธิประโยชน์สูงสุด หากดำเนินการยื่นขอรับส่งเสริมในปีนี้ และเปิดดำเนินการภายในปีหน้าจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดด้านการลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มคลัสเตอร์และ10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม บีโอไอคงยังจะไม่ปรับเป้าของการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ใหม่ โดยจะคงไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาท แต่มีแนวโน้มว่าน่าจะเกินจากเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากดูแนวโน้มของยอดขอส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5เดือนแรกของปีนี้ มีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับนโยบายเร่งรัดในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่กำหนดให้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปีนี้ จะเป็นตัวช่วยผลักดันที่สำคัญ
ส่ส่วนการลงทุนที่เกิดขึ้นจริง นับตั้งแต่บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วตั้งแต่ปี 2557-2558 คิดเป็นเงินลงทุนราว 1.63 ล้านล้านบาทนั้น พบว่าส่วนใหญ่หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ยังไม่มีการลงทุนจริง เพราะจากการสำรวจประเมินโครงการในช่วง 3 เดือน(ม.ค.-มี.ค. 59) มีเม็ดเงินลงทุนจริงเพียง 1.07 แสนล้านบาท โดยยังไม่รวมการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้อีกกว่า 2.3 แสนล้านบาท
ดังนั้น บีโอไอจะเข้าไปเจาะลึกในแต่ละโครงการว่าติดปัญหาหรืออุปสรรคอะไร อย่างเช่น ผังเมือง การต่อต้านของชุมชน หรือมีปัญหาจัดซื้อเครื่องจักร หรือยังไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ ซึ่งจะเข้าไปดูในแต่ละกรณีไป และให้การช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำ เพื่อให้การลงทุตนเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีเป้าหมายที่จะให้เกิดการลงทุนจริงในปีนี้ให้ได้ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากนโยบายการเร่งรัดการลงทุนที่มาจากคลัสเตอร์และ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เงินทุน 2 แสนล้านบาท ด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559