กรมส่งเสริมอุตฯชู 5 กลยุทธ์ปั้นโอท็อป นำร่อง 6 จังหวัด พัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมควบท่องเที่ยว

30 มิ.ย. 2559 | 08:00 น.
กสอ.ชู 5 กลยุทธ์ ปั้นโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมควบคู่การท่องเที่ยว พัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปสร้างรายได้ให้ชุมชนสนองนโยบายประชารัฐ

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรม ตามนโยบายที่ต้องการส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมชนบทควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยนำร่อง 6 หมู่บ้านใน 6 จังหวัด ได้แก่ บ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรมและเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาและผ้าทอมือ บ้านนาตีน จ.กระบี่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและมีผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ผ้าบาติก สมุนไพรพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย แหล่งมรดกโลกด้านอารยธรรม มีสินค้าโอท็อปขึ้นชื่อ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากผ้าหมักโคลน เครื่องถมเงิน เป็นต้น

บ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ มีสินค้าทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ เสื่อกก เครื่องจักสาน เครื่องประดับของสตรี กำไล เข็มขัด น้ำพริกป่นปลาช่อน เป็นต้น บ้านนาตาโพ จ.อุทัยธานี สินค้าที่โดดเด่นส่วนใหญ่เป็นผ้าทอลายโบราณบ้านนาตาโพ อาทิ ผ้าซิ่นจก ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าขาวม้า ผ้ารองจาน เป็นต้น และสุดท้าย คือ บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช โดยคาดว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างเม็ดเงินกระจายสู่ชุมชนนำร่อง 6 หมู่บ้านได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี และจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 10-15% จากปัจจุบันมีมากกว่า 8.4 ล้านคนต่อปี

ด้านนายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2559 กสอ.จะเข้าไปดำเนินการพัฒนาและสนับสนุนผลิตภัณฑ์กลุ่มผ้าบาติก ผ่านการส่งเสริมด้านการจัดหาแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาศักยภาพทางด้านการผลิต การให้คำแนะนำเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่น ตลอดจนการพัฒนาลวดลายผ้าบาติกประยุกต์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ ผ้าผืน กางเกง กระเป๋า เสื้อ และอื่นๆ เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีหมู่บ้านที่มีศักยภาพในทุกภูมิภาคเหมาะสมแก่การพัฒนารวมกว่า 50 หมู่บ้าน โดย กสอ. มีแนวทางในการส่งเสริมหมู่บ้านต่างๆ ผ่าน 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. ค้นหา "Star" โดยคัดเลือกหมู่บ้านนำร่องมาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาสินค้าชุมชน โดยที่ยังคงเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยและมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความหลากหลายของสินค้านั้นๆ 2. สร้าง "Identity" โดยการค้นหาความโดดเด่นจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมีความหลากหลายและสามารถหาเอกลักษณ์จากสินค้านั้นๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด โดยตัวอย่างเอกลักษณ์ที่เห็นเด่นชัด

3. ปรับ "Image" การส่งเสริมในด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย 4. ใส่ "Innovation" ผ่านการฝึกอบรมและศึกษาดูงานชุมชนต้นแบบเพื่อให้ความรู้ในการผลิตสินค้าให้ออกมาดีและมีคุณภาพมากที่สุด และ 5. เชื่อม "OTOP Networking" การบริหารจัดการในการเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย กสอ. มีแนวทางการจับคู่ธุรกิจ ตลอดจนเปิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งประเทศที่มีความนิยมสินค้าโอท็อปของไทย เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศ เช่น ผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559