แบงก์ชาติชี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป เชื่อทั้งปีขยายตัวตามประมาณการ 3.1% หลังตัวเลขภาวะเดือนพฤษภาคม การใช้จ่ายภาครัฐได้ตามเป้า-สัญญาณการบริโภคเอกชนฟื้นตัว เหตุรายได้ภาคเกษตรขยับเป็นบวก 6.7% เผยปัญหาภัยแล้งกดดันลดลง จับตาความเสี่ยง"เบร็กซิท"
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สานนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้รวมภาพฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยทั้งปีกนง.ยังคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ระดับ 3.1% ซึ่งปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนการขยายตัวจะเป็นเรื่องของการลงทุนจากภาครัฐผ่านการก่อหนี้ผูกพันและการเบิกจ่ายงบลงทุนได้ดีต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จะเห็นว่าตัวเลขการก่อหนี้ผูกพันสะสมปีงบประมาณขยับจากสัดส่วน 20.6% ในปี 2555 ขยับมาเป็น 78.8% ในปีงบประมาณ 2559 ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาเพิ่มเติม เช่น สินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐ และการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีส่วนช่วยพยุงการใช้จ่ายภายในประเทศ และปัจจัยภาคท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง จึงมีการปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิมอยู่ที่ 32.4 ล้านคน เพิ่มเป็น 34.0 ล้านคน และในปี 2560 ปรับจาก 34.4 ล้านคน เป็น 36.7 ล้านคน
อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตจีดีพีที่ระดับ 3.1% ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ในระดับต่ำ จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยากที่จะสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ โดยอัตราการเติบโตตามศักยภาพจีดีพีควรอยู่ที่ระดับ 3.5% แต่ถือว่าการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณบวกเล็กน้อยจากประมาณการเดิมเดือนมีนาคมอยู่ที่ 2.4% เพิ่มเป็น 3.1% เป็นผลมาจากโครงการภาครัฐที่ทยอยออกมาค่อนข้างเยอะ ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างดีขึ้น แต่ยังต่ำเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งในปี 2560 ได้ปรับประมาณลดลงจากเดิมอยู่ที่ 4.0% เหลือ 2.3% เนื่องจากต้องรอดูโครงการภาครัฐที่จะออกมา เพราะจะมีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนว่าจะเป็นบวกหรือลบมากน้อยระดับใด
ส่วนปัจจัยความเสี่ยง กนง.ยังคงต้องประเมินเป็นระยะๆ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจัยต่างประเทศมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะกรณี สหราชอาณาจักรทำประชามติออกจากสมาชิกอียู (Brexit) ทำให้การประเมินความเสี่ยงเป็นไปได้ในหลายสมมติฐาน เนื่องจากการเจรจายังไม่นิ่ง และการทำข้อตกลงการออกจากอียูก็ยังไม่เริ่มเลย ซึ่งหากเลื่อนขั้นตอนการเจรจาออกไป ทำให้มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อภาคธุรกิจและการลงทุน หรือ Financial Sector มากกว่าภาคการค้า ดังนั้น ความเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลังจะให้น้ำหนักในเรื่องของปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก
"ความเสี่ยงเบ้ไปในด้านต่ำในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะเรื่องเบร็กซิทt เป็นปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า เพราะนอกจากจะกระทบความผันผวนในเรื่องของราคาสินทรัพย์ จะมีผลที่เราจะต้องติดตามในเรื่องของการลงทุนและการค้าให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยดูผลสมมติฐานต่างๆ ทั้งผลการตกลงระหว่างอังกฤษและอียู ซึ่งคณะกรรมการจะมีการหารือกัน และในระยะข้างหน้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มไปด้านต่ำ ทำให้นโยบายการเงินยังเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและมองว่าดอกเบี้ยควรเก็บไว้ใช้ในอนาคต เพื่อไม่ให้ติดกรอบซีโร่บาร์ และการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะต้องดูเรื่องของการลงทุนภาคเอกชน เพราะถ้าโตจากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐจะไม่ยั่งยืนเมื่อเทียบกับการลงทุนภาคเอกชนที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว"
ส่วนอัตราการเติบโตจีดีพีในปี 2560 ที่ปรับจาก 3.3% ลงมาที่ 3.2% มาจากการส่งออกเป็นสำคัญ เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เป็นผลให้ปริมาณการค้าโลกลดลง จึงมีการปรับอัตราการเติบโตส่งออกจากติดลบ 2% เป็นติดลบ 2.5% ในปีนี้ และในปี 2560 ปรับจากเติบโต 0.1% เป็น 0%
[caption id="attachment_67688" align="aligncenter" width="335"]
รุ่ง มัลลิกะมาส
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.[/caption]
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคมขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่กระเตื้องขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรกรปรับตัวดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น และปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย ตลอดจนการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐกลับมาขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าที่ยังคงหดตัว ส่งผลให้ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ทั้งในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทน รวมถึงภาคบริการ ทำให้ดัชนีชี้วัดขยายตัวอยู่ที่ระดับ 5.3% โดยเฉพาะสินค้าคงทนมีอัตราการเติบโตสูงถึง 7.8% ถือว่าปรับตัวสูงมากเมื่อเทียบปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากหมวดรถยนต์ และรายการพิเศษจากการทำโปรโมชั่น ทำให้ขยายตัวได้ดี และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคเกษตรที่ขยับเป็นบวกอยู่ที่ 6.7% มาจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง เป็นต้น หลังจากปัจจัยภัยแล้งคลี่คลายลงไป ช่วยให้ทอนปัจจัยความเสี่ยงด้านลบที่มีผลต่อจีดีพีทั้งปีออกไป ขณะเดียวกันรายได้ภาคเกษตรที่เติบโตขึ้น จะมีผลต่อ 2 ปัจจัย คือ การบริโภคโดยรวมที่เติบโตเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่ำอยู่ที่ 1.5% แต่จะเห็นการขยายตัวในหมวดการซื้อรถยนต์ประกอบธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ส่วนหมวดการลงทุนภาคการก่อสร้างชะลอตัวลง โดยแผ่วลงจากหมวดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากผู้ประกอบการมีสต็อกคงค้าง และมาตรการภาครัฐหมดอายุ ทำให้หมวดการก่อสร้างไม่ขยายตัว ส่งผลให้การระดมทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าในอดีต แต่ถ้าดูตัวเลขเฉพาะเดือนพฤษภาคมอาจจะสูงกว่าปกติ เป็นผลมาจากดีลซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศผ่านช่องทางสินเชื่อ ซึ่งหากหักดีลซื้อกิจการออกจะพบว่าการระดมทุนขยายตัวต่ำ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวต่ำ สอดคล้องไปยังกำลังการผลิตให้อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 65-68%
ขณะที่การส่งออกในมูลค่ามีอัตราการเติบโตติดลบอยู่ที่ 3.7% หากหักทองคำออกจำนวน 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตติดลบอยู่ที่ 5-6% อย่างไรก็ดี หากเทียบในระยะยาวจะเห็นว่าอัตราการติดลบน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และความต้องการในตลาดจีนและออสเตรเลียยังพอไปได้ แต่โดยภาพรวมยังคงหดตัวจากคู่ค้าชะลอตัว แต่จะมีบางประเทศที่ไปได้ เช่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวียังส่งออกไปได้ดี ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในแดนบวก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.47% ขยับจาก 0.07% มาจากราคาผักที่สูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.78% เป็นการขยับแบบค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป
"เศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคมฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แต่พูดไม่ได้ว่าการฟื้นตัวในเดือนถัดๆ ไปจะเป็นอย่างไร แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจมั่นใจว่าน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.1% โดยสัญญาณบวกมาจากการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมาจากรายได้เกษตรที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องของต่างประเทศยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ที่จะต้องติดตาม เพราะเป็นปัจจัยความเสี่ยงเพิ่มขึ้น"
อนึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะประกาศปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในเดือน กรกฎาคม 2559 นี้ (หลังจากปรับลดประมาณการอยู่ที่ 3.3%จากเดิมอยู่ที่ 3.7% และการส่งออกติดลบ 7% จากเดิมคาดจะขยายตัว 0.1%)
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559