เขตเศรษฐกิจลาวแซงไทย จีนทุ่ม 1 ล้านล้านพัฒนาบ่อหาน-บ่อเต็น

27 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2559 | 10:42 น.
10 เขตเศรษฐกิจพิเศษไทยอืด จีนทุ่ม 1 ล้านล้านเร่งบ่อหาน-บ่อเต็นชิงได้เปรียบ พร้อมผุดศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าค่า 8 พันล้าน ประเคนสิทธิประโยชน์ปลอดภาษีดึงนักลงทุน-นักช็อป แล้วเสร็จปลายปีนี้ สปท.ผวาเพิ่มโอกาสสินค้าจีนทะลักสู่ประเทศไทยครั้งใหญ่ จี้ผนึกลาวปั้นเขต ศก.พิเศษร่วมเชียงของ-ห้วยทรายสู้ ชูเป็นชุมทางขนส่งทางบก เรือ อากาศ พร้อมใช้สกัดสินค้าจีน

สืบเนื่องจากที่ผู้นำจีน และสปป.ลาว ได้เซ็นสัญญาความตกลงในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อเต็น-บ่อหาน(จีน-ลาว) พื้นที่ 24 ตารางกิโลเมตร (หรือราว 15,000 ไร่) โดยที่ทางฝ่ายจีนจะถอยเขตด่านศุลกากร และด่านตรวจคนเข้าเมืองจากเส้นชายแดนบ่อหาน(โมฮั่น)ลึกเข้าไปทางฝั่งจีน 6 กิโมเมตร และฝ่ายลาวจะถอยเขตด่านศุลกากร และด่านตรวจคนเข้าเมือง จากเส้นชายแดนเข้ามายังฝั่งบ่อเต็นของลาว 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ในส่วนของจีนจะใช้เงินลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเชื่อมโยงมายังเขตเศรษฐกิจร่วมบ่อหาน-บ่อเต็นในครั้งนี้ประมาณ 2 แสนล้านหยวน หรือราว 1 ล้านล้านบาท

[caption id="attachment_74786" align="aligncenter" width="700"] แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจ แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจ[/caption]

 ทุ่ม8พันล.ผุดศูนย์กระจายสินค้า

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ คณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ ในคณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรม และบริการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า ขณะนี้รัฐบาลจีนได้ลงทุนสร้างทางรถไฟ และพัฒนาถนน เส้นทางจากจิ่งหงมาบ่อหานจาก 4 เลน เป็น 8 เลน และยังสร้างสนามบินห่างจากบ่อหานประมาณ 30 กิโลเมตรเพื่อขนนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ รวมถึงใช้ขนสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย เช่นผลไม้ และผักต่างๆ ของจีนทางตอนใต้มาไว้ที่บ่อหานเพื่อส่งเข้าลาว และไทยในโอกาสต่อไป

ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดรับกับระบบสาธารณูปโภคที่รัฐบาลจีนอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการมายังเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ รัฐบาลจีนยังเปิดประมูลให้เอกชนของจีนเพื่อดำเนินจัดตั้งศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า(Distribution Center : DC) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อหาน-บ่อเต็น(อยู่ในฝั่งบ่อหานของจีน ห่างจาก อ.เชียงของของไทย 243 กม.) บนพื้นที่ 4.83 ตารางกิโลเมตร ในศูนย์นี้จะมีทั้งคลังสินค้า(ที่เป็นห้องเย็นและไม่ใช่ห้องเย็น) สถานีและศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถยนต์ ลานจอดรถ มีร้านค้าทั่วไป และร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี)ร้านอาหารและภัตตาคาร มีโรงแรมระดับ 4 ดาวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยศูนย์นี้จะใช้เงินลงทุน 8,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปลายปี 2559

“จากที่ได้ไปดูงานมา ขณะนี้มีนักธุรกิจจีนเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงนักธุรกิจจากลาวและไทยได้เตรียมเข้าไปดำเนินธุรกิจในศูนย์นี้กันอย่างคึกคัก ทั้งการเช่าคลังสินค้า การเช่าพื้นที่ขายสินค้า เช่าที่เพื่อทำโรงแรมและที่พัก ศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า ทำร้านอาหาร ซึ่งรัฐบาลจีนให้เอกชนของจีนเป็นผู้บริหารจัดการศูนย์แห่งนี้ให้มีกำไร ซึ่งใครก็ตามที่ไปเปิดดำเนินธุรกิจหรือตั้งบริษัทในเขตนี้ รัฐบาลจีนจะให้สิทธิประโยชน์ไม่เสียภาษีการค้า ไม่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล คนงานก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้นจะจูงใจนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวอย่างมาก”

จับตาสินค้าจีนยิ่งทะลักหนัก

นายสายัณห์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวของจีน ห่วงจะกระทบกับไทย และจีนจะยิ่งได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันจีนถือเป็นผู้ควบคุมระบบโลจิสติกส์ และได้ประโยชน์มากจากเส้นทาง R3A เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากทางภาคใต้ของจีนเข้ามาตลาดไทของไทยอยู่แล้ว อนาคตหากศูนย์แห่งนี้ของจีนแล้วเสร็จสินค้าจากจีนจะถูกส่งมาพัก หรือรีแพ็กเก็จ หรือบรรจุหีบห่อใหม่ในที่แห่งนี้ ก่อนส่งเข้าลาว และไทยเพิ่มมากขึ้น ในระยะยาวผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนจะอยู่ในมือจีนเกือบทั้งหมด ขณะที่ไทยก็จะได้ประโยชน์จากศูนย์นี้ในการส่งออกสินค้าไปจีน แต่เทียบแล้วเราจะได้รับประโยชน์น้อยกว่า

จี้เร่งเขตศก.พิเศษเชียงของ

ในเรื่องนี้เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์คานจีนทางคณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานฯ สปท. ขอเสนอให้รัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาวเพื่อให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมเชียงของ-ห้วยทราย(ไทย-ลาว) ในบริเวณสองฝั่งรอบสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เร่งด่วน หากทางลาวไม่เอาด้วย ไทยทำฝ่ายเดียวก็ได้ โดยขอให้รัฐบาลมีการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อพัฒนาเชียงของ ให้เป็นชุมทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Air-Sea-Land Intersection) ทั้งทางบกโดยทางรถยนต์ และทางรถไฟโดยเชื่อมทางรถไฟจากเชียงใหม่มายังเชียงรายและเชียงของ เพื่อขนส่งสินค้าในภาคเหนือออกไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี(แหลมฉบัง)) และระยองที่รัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ รวมถึงเชื่อมโยงไปยังจังหวัดตราดเพื่อออกไปยังประเทศกัมพูชาได้ ส่วนทางเรือสามารถออกไปทางเชียงแสนเชื่อมผ่านเมียนมาไปยังจีนได้ ขณะที่ทางอากาศมีสนามบินแม่ฟ้าหลวงซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ต้องปรับปรุงให้สามารถใช้ขนส่งสินค้า และผู้โดยสารเข้ากรุงเทพฯ รวมทั้งเชื่อมโยงไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้มากขึ้น

“ถ้าไทยสามารถทำตรงนี้ดักไว้ได้ และเชื่อมโยงการคมนาคมทุกรูปแบบจากเส้นทาง R3Aได้ ต้นทุนการขนส่ง หรือต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการก็จะถูกลง นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติก็จะเห็นโอกาสในการลงทุนทั้งด้านอุตสาหกรรม และบริการ ไทยก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น และในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ขอเสนอให้ตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกด้านการขนส่งหรือขนถ่ายสินค้า โดยเปิดให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ และรัฐให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ”

ที่สำคัญขอให้ใช้ศูนย์นี้ในการจัดระเบียบสินค้าที่มาจากจีน โดยบังคับต้องสำแดงว่ารถขนสินค้าอะไรเข้ามา และมีปลายทางที่ใด คนขับชื่ออะไร เป็นต้น จากที่ผ่านมาแค่สุ่มตรวจที่ด่านศุลกากร ทั้งนี้เพื่อเหตุผลทางด้านความมั่นคง และสามารถใช้โมเดลนี้เป็นต้นแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ของไทยได้ด้วย นี่คือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น จากปัจจุบันรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์การลงทุนผ่านบีโอไออย่างเดียวไม่เวิร์ก ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยเกิดขึ้นได้ช้า

หอการค้าเชียงรายชี้จีนชิงได้เปรียบ

สอดคล้องกับนายเกษม เตชไตรรัตน์ เลขาธิการ หอการค้าจังหวัดเชียงราย ที่กล่าวว่า เมื่อจีนมีการลงทุนและที่จะนำสินค้ามายังจุดพักสินค้าที่บ่อหาน มองว่า ไทยเราน่าจะต้องลงมือตั้งจุดห้องเย็นหรือจุดพักสินค้าบ้าง คิดอย่างเดียวแต่ไม่ลงมือไม่เกิดประโยชน์ และอาจเสียโอกาส โดยเฉพาะต้องเร่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ แต่ในมุมกลับมองว่าจีนก็ต้องการสินค้าไทยเป็นจำนวนมากเช่นกันโดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค ขณะที่สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนส่วนใหญ่ เป็นผลไม้ อาทิ แอปเปิล สาลี่ เป็นต้นแต่โดยภาพรวมแล้ว จีนจะได้เปรียบไทยเพราะได้ลงทุนไปแล้ว และได้เปรียบที่เขามีจุดพักสินค้า

ปั่นศูนย์ขนถ่ายเชื่อมจีน

ด้าน ดร. พีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเร่งลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานลงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมเพื่อนบ้าน โดยกรมขนส่งทางบก(ขบ.)อยู่ระหว่างเวนคืนที่ดิน 280 ไร่เพื่อก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรถบรรทุกสินค้า ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดเปลี่ยนรถบรรทุกแล้วบริเวณตรงกลางศูนย์นี้จะก่อสร้างระบบรางรถไฟ เพื่อรองรับสินค้าจากประเทศจีนที่จะข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และเชื่อมเข้ากับระบบรางต่อไปยังพื้นที่อื่นของประเทศไทย

โดยล่าสุดได้ตั้งงบเพื่อเวนคืนโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของในปีงบประมาณ 2560 ที่ใช้ระระเวลาดำเนินโครงการ 4 ปีทั้งนี้มองว่า จะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งไทยที่อยู่ระหว่างพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงของที่จะเชื่อมกับห้วยทรายของสปป.ลาว กับเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น-บ่อหานที่จีนลงทุน

กระทุ้งพาณิชย์ขยายส่งออกไปจีน

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า เอกชนในพื้นที่ได้เสนอเรื่อง จีนลงทุนพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่บ่อเต็น-บ่อหานต่อภาครัฐผ่านช่องทางของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์จะได้หาทางขยายโอกาสให้กับสินค้าไทยกระจายไปยังเขตเศรษฐพิเศษบ่อเต็น-บ่อหาน เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

ผุดมอเตอร์เวย์ร่นทางเชื่อมไทย

ส่วนในมุมมองดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ระบุ เขตเศรษฐกิจพิเศษ บ่อเต็น-บ่อหานจะเป็นจุดรับสินค้า โดยเฉพาะ จีนต้องการจีนค้าไทยมากที่สุดมากที่สุด และมองว่าไทย นำเข้าสินค้าจีนน้อยกว่าที่จีนจะนำเข้าสินค้าไทย อย่างไรก็ดี บ่อเต็นเป็นเมืองหน้าด่านของจีน ซึ่งได้พัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ที่สำคัญซึ่งขณะนี้จีนเตรียมก่อสร้างมอเตอร์เวย์ บนถนนR3A เนื่องจากมองว่าคดเคียวและเป็นภูเขาตัดเป็นเส้นทางตรง จาก 280กิโลเมตรเหลือเพียง 200 กิโลเมตรเศษๆ เพื่อขนส่งสินค้าจากจุดพักมายังไทยซึ่งจะใช้ระยะเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้นจากปัจจุบันต้องใช้เวลานาน และหากฝั่งไทยสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรถบรรทุก ซึ่งจะมีการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่จะรับกับเส้นทางรถไฟของจีนที่ทำที่ห้วยทรายผ่านสิบสองปันนา และทะลุเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน-บ่อเต็น เสริมการขนส่งสินค้าซึ่งไทยเรา ต้องเร่งดำเนินโครงการเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของด้วยเช่นกัน

10 เขตศก.ไทยยังไม่ขยับ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด ประกอบด้วย ระยะแรก จังหวัดตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด และหนองคาย ระยะที่ 2 เชียงราย กาญจนบุรี พนครพนม และ นราธิวาส อย่างไรก็ดีมองว่า ยังไม่ขยับอะไรมากนัก ทั้งนี้สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก อยู่ระหว่างเจรจากับผู้บุกรุกพื้นที้ คาดจบภายในเดือนสิงหาคมนี้
ขณะที่ ด้านอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ยังไม่มีข้อยุติกับผู้บุกรุกกรมธนารักษ์ อยู่ระหว่างเจรจาคาดว่าปลายปีนี้น่าจะได้ข้อยุติ เป็นต้น ส่วนด้านมุกดาหาร ตราด และหนองคาย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเอกชนที่ยื่นประมูลว่าใครจะได้พื้นที่ไปพัฒนา

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559