แนวคิด Smart City ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดชุมชนเมืองที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัยและได้รับคุณภาพในการใช้ชีวิตที่สูง เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย และมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่น้อยที่สุดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเข้าด้วยกันแบบบูรณาการผ่านระบบ IT เพื่อให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เหตุผลที่ต้องมีการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกันเนื่องจากในอดีตนั้นระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งประปา ไฟฟ้า ก๊าซ คมนาคมขนส่ง บริการสาธารณะของเมืองมักจะแยกกันและดำเนินการแบบต่างคนต่างทำ ดังนั้นนอกจากจะต้องทำให้แต่ละระบบทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดแล้วนั้น ยังต้องทำให้แต่ละระบบทำงานร่วมกันแบบบูรณาการในบริบทของเมืองเพื่อสามารถจัดลำดับความสำคัญในแง่ของการลงทุนและใช้ให้เกิดมูลค่าสูงที่สุด
ในด้านรัฐศาสตร์ถือว่าแนวคิดด้าน Smart City จะเป็นการจุดประเด็นในการกระจายอำนาจ และ สร้างความสามารถในการบริหารจัดการเมืองของแต่ละท้องถิ่น อีกด้านคือเป็นการสร้างอำนาจให้กับประชาชน และชุมชนในการร่วมกำหนดทิศทาง การแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูลต่างๆในการบริหารจัดการเมือง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ระบบแจ้งความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานเมืองจากประชาชนผ่านระบบ application ถ้าหากระบบดังกล่าวมีการใช้อย่างต่อเนื่อง มีการแสดงให้เห็นว่าข้อมูลมีผลลัพธ์ต่อการดำเนินงานจริงๆ ก็จะเกิดความชัดเจนในการวางแผนงานในแต่ละปีรวมถึงงบประมาณให้สอดคล้องกับความเสียหายที่แจ้งเข้ามา จะเป็นการพลิกโฉมการวางแผนงบประมาณของเมืองได้
ในภาคธุรกิจการผลักดันแนวคิด Smart City เกิดขึ้นพร้อมๆกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี Internet of Things (IOT) ซึ่งเป็นรากฐานในการเชื่อมโยงอุปกรณ์หรือสิ่งของรอบๆตัวเราเข้ากับโครงข่ายการสื่อสารแบบอินเตอร์เน็ต ลองจินตนาการว่าในอนาคตอันใกล้ไม่ใช่เฉพาะโทรศัพท์มือถือเท่านั้นที่เราสามารถใช้สื่อสารหรือส่งข้อมูลให้กันและกันได้ หลอดไฟตามท้องถนนสามารถแจ้งถึงสถานะความชำรุดให้กับเมืองได้ รถยนต์สามารถสื่อสารกับสัญญาณไฟจราจรได้เพื่อบอกเส้นทางที่ต้องการเดินทาง หรือแม้แต่กระทั่งสายรัดข้อมือสามารถส่งข้อมูลสุขภาพของผู้ใส่ให้กับระบบวิเคราะห์ของโรงพยาบาลที่คอยติดตามผู้ป่วยได้
สำหรับ IOT นั้นจะเป็นการกระตุ้น mass market ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ประสิทธิภาพในการดำรงชีวิต รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ เทคโนโลยีด้าน Smart Home หรือ Wearable Device น่าจะเป็น sector ที่นำในการปรับใช้ในช่วงแรก โดยพ่วงเข้ากับการใช้ application บนโทรศัพท์มือถือ ใน generation ต่อมาเราคงเห็นการพัฒนาระบบในรถยนต์ หรือ การให้บริการด้านต่างๆที่หลากหลายขึ้นที่สร้างความเชื่อมโยงในการดำรงชีวิตด้านต่างๆ
ในระดับมหภาคคงจะเกิดกระแสการลงทุนในระดับเมืองของภาคธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ สื่อสารโทรคมนาคมเพื่อสร้างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับเมือง หรือท้องถิ่นสำหรับการรองรับการจัดการในรูปแบบ Smart City รวมทั้งรองรับการขยายตัวของ IOT ที่จะเข้าไปถึงประชาชนในระดับชุมชน ภาคธุรกิจเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์องค์กรจากเมื่อก่อนเป็นผู้ผลิตและขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ mass market มาเป็นผู้ให้บริการระบบจัดการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และการจัดการคุณภาพชีวิตทั้งในระดับครัวเรือนไล่ขึ้นไปจนถึงระดับประเทศ
การปรับเปลี่ยน position ในลักษณะนี้อาจส่งผลให้เกิดลักษณะการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) ระหว่างเมืองและภาคธุรกิจเพื่อได้รับสิทธิ์ในการจัดการบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และระบบสื่อสารที่จำเป็นสำหรับการให้บริการแบบ Smart City หรือ IOT ส่วนกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆที่ไม่ใช่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อสารโทรคมนาคมโดยตรงคงพยายามที่จะเข้ามาในภาคธุรกิจเพื่อเกาะกระแสการเติบโตของ Smart City และ IOT ซึ่งถือว่าเป็น S-Curve ตัวใหม่ของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญตัวหนึ่ง เช่น การที่ยักษ์ใหญ่ต่างๆในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการลงทุนร่วมกับ Tech firm ที่ให้บริการ Platform as a Service หรือการที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ Smart City และ IOT เอง
ภาครัฐเองก็คงเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้าง S-Curve ตัวใหม่ส่งผลให้เกิดกระแส Start up Smart City หรือ Thailand 4.0 ขึ้นมาเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) สุดท้ายแล้วประชาชน หรือผู้บริโภคคงต้องมีการปรับตัวและประเมินประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยีกระแสใหม่เหล่านี้เพื่อให้ตนเองกลายเป็น Smart User ไปด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559