ลงทุนนิคมฯสระแก้วคึกคัก 40 กลุ่มทุนตอบรับแห่จองพื้นที่หนุน 12 กิจการเป้าหมาย ทั้งเกษตรแปรรูป พลาสติก และโลจิสติกส์เอสซีจีเห็นโอกาสทำศูนย์กระจายสินค้าไปเพื่อนบ้าน ส่วนปตท.ทำคลังสินค้าเม็ดพลาสติก ต่อยอดให้ซัพพลายเชนตั้งโรงงาน
[caption id="attachment_80437" align="aligncenter" width="700"]
อัตราค่าเช่าและเงื่อนไขการเช่าที่ดินนเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว[/caption]
ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม(กนอ.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดสระแก้ว ว่า ขณะนี้ กรมธนารักษ์ได้ส่งมอบพื้นที่จำนวน 660 ไร่ ในเขตตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เรียบร้อยแล้ว ล่าสุดรอการอนุมัติการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) มอบให้จังหวัด เป็นผู้อนุมัติ คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนสิงหาคม –กันยายน น่าจะได้รับอนุมัติ และ ก่อสร้างได้ประมาณ ปลายปี 2559 ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน โดยพร้อมให้นักลงทุนเข้าพื้นที่ก่อสร้างโรงงานได้ทันทีกลางปีหน้า คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์แบบในปลายปี2560-ต้นปี2561 และตั้งเป้าว่า ภายใน3ปีนับจากเปิดนิคมจะมีนักลงทุนเต็มพื้นที่
ขณะที่การออกแบบนิคมฯได้ดำเนินการแล้วเสร็จและได้แบ่งโซนพื้นที่ดำเนินการ ออกเป็น 5โซน ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 241.94 ไร่ ประกอบด้วยโซนบี 40.45ไร่ เป็นรูปแบบปลีกให้ ผู้ประกอบการเช่าแปลงเล็ก1-2ไร่ โซนซี 61.51ไร่ แบบเหมา 30 ไร่ขึ้นไปหรือแบบปลีก โซนดี 57.66 แบบเหมา หรือแบบปลีก โซนอี 82.32ไร่ แบบเหมาหรือแบบปลีก นอกจากนี้ยังมี เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ พื้นที่โซนจี เนื้อที่ 89.18 ไร่ รูปแบบเป็นแบบเหมา เขตประกอบการเสรี หรือฟรีโซน พื้นที่โซนเอฟ เนื้อที่ 59.45ไร่ ซึ่งรูปแบบเป็นแบบเหมา หรือปลีก เขตพาณิชยกรรม พื้นที่โซนเอ เนื้อที่ 36.95ไร่ แบบเหมาหรือแบบปลีก ส่วนพื้นที่เช่าสถานีไฟฟ้าย่อย โซนเอช 5.22ไร่ จะเป็นแบบปลีก
ดึงทุนใหญ่ลงนิคมฯ
ส่วนการตอบรับการลงทุนจากผู้ประกอบการนั้น พบว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นมีนักลงทุนเข้ามาขอจองพื้นที่แล้วจำนวน 3 ราย รวมพื้นที่ประมาณ 90 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 21 % ของพื้นที่เขตประกอบการหรืออุตสาหกรรมที่มีอยู่ 433 ไร่แล้ว ซึ่งแต่ละรายลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับทางบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ จำกัด ในกลุ่มเอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ ก่อสร้าง แสดงความสนใจที่จะเข้ามาเช่าพื้นที่กว่า 40 ไร่ เพื่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า ในการให้บริการส่งสินค้าข้ามแดนไปยังเพื่อนบ้าน รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ รวมถึงมีสมาคมทางด้านโลจิสติกส์ สนใจที่จะเข้ามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าเช่นเดียวกัน
อีกทั้ง ทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) หรือพีทีทีจีซี แสดงความสนใจที่จะเข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อก่อสร้างคลังสินค้าเม็ดพลาสติก รองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะใช้พื้นที่เท่าใด รวมถึงมีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมบางราย สนใจที่จะขอเช่าพื้นที่แปลงใหญ่ นำที่ดินไปพัฒนาเป็นโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า
40 กลุ่มทุนแห่ลงดูพื้นที่
ดร.วีรพงศ์ กล่าวอีกว่า อีกทั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา กนอ.ได้นำคณะนักลงทุนกว่า 40 บริษัท ลงพื้นที่เยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และผู้ประกอบการต่างมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน 12 กิจการเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรแปรูป พลาสติก โลจิสติกส์และบริการ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน เป็นต้น
ส่วนผู้ประกอบการ 3 รายดังกล่าว ในจำนวน 2 รายได้จองพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไปโซนซี 61.5 ไร่ จำนวนทั้งหมดแล้ว ซึ่งเป็นผู้ประกอบการลำไยอบแห้งส่งออก ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครปฐม และผู้ประกอบการลงทุนด้านเครื่องสำอาง ที่มาจากวัตถุดิบด้านเกษตร ขณะที่โซนดีที่เป็นโซนโรงงานพลาสติก มีผู้จองพื้นที่แล้ว 30 ไร่ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มเดียวกันกับอุตสาหกรรมลำไยอบแห้ง
นอกจากนี้ในส่วนของเขตการค้าเสรี เนื้อที่ 59.45ไร่ ได้มีนักธุรกิจส่งออกข้าวบริษัทอิสเทิร์นไรซ์ จำกัด เข้ามาจองแล้ว 6-7 ไร่ และยังมีกลุ่มทุนด้านโลจิสติกส์ สนใจที่จะมาจองพื้นที่ในโซนจี เพื่อจะนำไปพัฒนาทำสถานีขนส่งพักสินค้า เพื่อส่งออกไปเพื่อนบ้าน เนื่องจากพื้นที่นิคมฯอยู่ห่างจากด่านถาวรบ้านคลองลึกประมาณ 10กิโลเมตร ขณะที่ด่านป่าไร่ จะมีระยะทางเพียง 6 กิโลเมตรเท่านั้น
ส่วนนักลงทุนที่ลงดูพื้นที่แล้วและมีความสนใจ อาทิ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทเคเอ็นอาร์กรุ๊ป บมจ.ไออาร์พีซีบจ.globalutilitiesservices บจ.เจม เอ็นไวรันเมนทัลแมเนจเม้นท์ บจ. คุราซิกิ สยามรับเบอร์ บจ.แกรนด์เวิลด์ บจ. อิสเทิร์นไรซ์ เป็นต้น
"จากการตอบรับของนักลงทุนดังกล่าว มองว่าจำนวนพื้นที่ที่มีอยู่นั้น อาจจะไม่เพียงพอที่จะมารองรับนักลงทุนได้ทั้งหมด ทางคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดกนอ.ได้ให้นโยบายที่จะต้องกันพื้นที่ไว้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นิคมฯด้วย ทำให้กนอ.จำเป็นต้องพิจารณากลุ่มลูกค้า เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายจริงๆ"
ชูฟรีค่าเช่า 3 ปีแรก
ดร.วีรพงศ์ กล่าวเสริมอีกว่า การที่ผู้ประกอบการตอบรับที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมฯจำนวนมากนี้ นอกจากทำเลที่ตั้งและศักยภาพของพื้นที่จังหวัดสระแก้วแล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก อัตราค่าเช่าที่ดินจะถูกกว่าพื้นที่นอกนิคมฯและยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดจากบีโอไอ ประกอบกับกนอ.ได้ออกแพ็กเกจสิทธิพิเศษในการเช่าที่ดิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการลดต้นทุน โดยกำหนดให้กรณีเช่าที่ดินตั้งแต่ 30 ไร่ ขึ้นไป ซึ่งจะต้องเป็นแปลงที่ดินผืนติดกัน ในเขตพาณิชย์และบริการ (โซน เอ) เขตอุตสาหกรรมทั่วไป (โซน ซี,ดี,อี) เขตประกอบการเสรี (โซน เอฟ) และเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (โซน จี) จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน ระยะเวลา 3 ปีแรก และในปีที่ 6 จะขึ้นค่าเช่า 10% มีระยะเวลาให้เช่าไม่น้อยกว่า 30 ปี
โดยในส่วนของโซนเอจะคิดค่าเช่าในอัตราไร่ละ 1.909 แสนบาทต่อปี โซนซี ดี และอี จะคิดค่าเช่าในอัตราไร่ละ 1.66 แสนบาทต่อปี โซนเอฟ คิดอัตราค่าเช่าไร่ละ 1.992 แสนบาทต่อปี และโซนจี คิดค่าเช่าอัตราไร่ละ 1.909 แสนบาทต่อปี ซึ่งอัตราค่าเช่าดังกล่าวนี้จะมีผลไปถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 นี้เท่านั้น
นอกจากนี้ ในกรณีที่เช่าที่ดินต่ำกว่า 30 ไร่ ซึ่งได้จัดสรรให้อยู่ในเขตพาณิชยกรรมและบริการโซนเอ คิดค่าเช่าในอัตราไร่ละ 1.909 แสนบาทต่อปี เขตอุตสาหกรรมทั่วไป โซนบี ซี ดีและอี คิดค่าเช่าไร่ละ 1.66 แสนบาทต่อปี เขตประกอบการเสรีโซนเอฟ คิดค่าเช่าอัตราไร่ละ 1.992 แสนบาทต่อปี และพ้นที่สถานีไฟฟ้าย่อยโซนเอช คิดค่าเช่าในอัตราไร่ละ 1.66 แสนบาทต่อปี และจะปรับขึ้นค่าเช่าในอัตรา 5 % ตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป โดยมีระยะเวลาเช่าไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งอัตราเช่าดังกล่าวจะมีผลสิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2561
ธุรกิจปักธงแน่
"ฐานเศรษฐกิจ" สอบถาม นางสุวิมล พงศ์พิทยานันต์ ประธานกรรมการบริษัท อิสเทิร์นไรซ์ จำกัด ยืนยันว่า ได้จองพื้นที่ จำนวน4 แปลง รวม6-7 ไร่ ในพื้นที่เขตฟรีโซน เพื่อลงทุนโรงงานสินค้าเกษตรแปรรูปเกี่ยวกับมันสำปะหลัง รูปแบบอาหาร เพื่อส่งออกไปยังกัมพูชา โดยเฉพาะเป้าหมายใหญ่คือจีน โดยเฉพาะ เส้นทางโลจิสติกส์ที่จีนลงทุนในฝั่งกัมพูชาและจะเชื่อมกับฝั่งไทย อย่างไรก็ดีหากการเชื่อมทางฝั่งกัมพูชาไม่สะดวกก็จะใช้เส้นทางของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งระยะทางไม่เกิน100 กิโลเมตร เท่านั้น อีกทั้งลงทุนธุรกิจข้าวที่ปัจจุบันส่งออกไป 86 ประเทศทั่วโลก
จากการสอบถามผู้แทนจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.)แพนเอเชียแอสโซซิเอท กล่าวว่า ได้เป็นผู้ประสานให้กับนักลงทุนจากตะวันออกกลาง ซึ่งสนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมป่าไร่ ประเภทเครื่องดื่มสมุนไพร อาทิ ผลิตตากแมงลัก ฯลฯ เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและส่งกลับไปยังตะวันออกกลาง
นายพัชรดิษฐ์ สินสวัสดิ์ ประธานกรรมการ บริษัท แกรนด์วิลด์ฯ ผู้ให้บริการขนส่งผ่านแดน และข้ามแดน กล่าวว่าบริษัทจะเน้นเข้าไปรับบริการขนถ่ายสินค้าทั้งนี้นิคมอุตสาหกรรมไทยได้เปรียบเพราะมีทั้งอุตสาหกรรม พาณิชย์และบริการขณะที่กัมพูชาไม่มี ดังนั้นจึงต้องใช้จุดแข็งให้กัมพูชาใช้บริการโลจิสติกส์ของไทย โดยผ่านหลายช่องทางเพื่อส่งผ่านไปทางท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ
อ่านเพิ่มเติมหน้า 7 "ลุยแก้อุปสรรคเขตศก.สระแก้ว สนช.ชงครม.เร่งดันนิคมฯผุดกลางปีหน้า/สร้างความเชื่อมั่น"
Photo :
Pixabay ภาพปกไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อข่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559