พลังงานถกเมียนมาเร่งขายไฟ ดันเขื่อน/ถ่านหินกฟผ.ให้เกิด
“อารีพงศ์” เดินหน้าหารือรัฐบาลเมียนมา สานต่อโครงการลงทุน กฟผ.-ปตท. ล่าสุดเตรียมตอกย้ำโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง 6 พันเมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัดจี 1.3 พันเมกะวัตต์ พร้อมดันโครงการคลังแอลเอ็นจี FSRU ขนาด 3 ล้านตันของ ปตท. ให้มีข้อสรุปโดยเร็ว
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2559 ที่ประเทศเมียนมา จะมีการหารือกับทางรัฐบาลเมียนมา เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จะมีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าหลายโครงการ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เตรียมลงทุนโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ลอยน้ำ(FSRU) เพื่อเร่งผลักดันให้มีความชัดเจนด้านพื้นที่ก่อสร้างต่อไป เบื้องต้นศึกษาพื้นที่เมืองกันบ็อก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองทวาย เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกของประเทศไทยเป็นหลัก และบางส่วนใช้ในเมียนมา
สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง กำลังการผลิต 6 ,000 เมกะวัตต์ ที่ก่อนหน้านี้ก็มีการเจรจากับหลายรอบ ซึ่งมีข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันแล้วว่าเขื่อนจะมีขนาดเล็กลง โดยแบ่งเป็น 2 เขื่อนกำลังการผลิตเฟสละ 3,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่เคยมีข้อตกลงร่วมกันในการซื้อขายไฟฟ้าไว้ที่ 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนน่าจะสามารถก่อสร้างเฟสแรกได้ภายในปี 2562 นอกจากนี้ยังจะเจรจาความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังนำฮัดจี กำลังการผลิต 1,300 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าในการหารือร่วมกันครั้งนี้ จะมีข้อสรุปที่ชัดเจนโดยเร็ว
นอกจากนี้จะมีการหารือเพื่อยกระดับโครงการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. หลังจากก่อนหน้านี้ได้บริจาค เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซจากโรงไฟฟ้าหนองจอก และโรงไฟฟ้าลานกระบือให้กับเมียนมา เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งจะยกระดับเป็น Combined Cycle ด้วย
"ที่ผ่านมารัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมา มีความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอด ที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือด้านพลังงาน โดยในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนในครั้งนี้ จะเป็นการเจรจาเพื่อสานต่อโครงการที่เคยคุยกันไว้ก่อนหน้านี้ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง โรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัดจี และน่าจะมีความชัดเจนโครงการ FSRU ของ ปตท. เนื่องจากปริมาณก๊าซจากแหล่งก๊าซในเมียนมาเริ่มลดลง ดั้งนั้น FSRU นอกจากจะส่งแอลเอ็นจีเข้ามาในไทยแล้ว ส่วนหนึ่งก็จะใช้ในเมียนมาด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะมีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันต่อไป" นายอารีพงศ์ กล่าว
ด้านนายอดิศักดิ์ สุริยวนากุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนา บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) เปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้ว่า EGATi มีแผนลงทุนหลายโครงการในต่างประเทศ เพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าส่งกลับเข้าประเทศไทย โดยการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในเมียนมามี 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง กำลังการผลิต 6,000 เมกะวัตต์ (EGATi ถือหุ้น 30%) มีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2570-2571, โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัดจี กำลังการผลิต 1,3000 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนมะริด กำลังการผลิต 1,800-2,500 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า มีแผนจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2564 - 2565
ส่วนแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ จังหวัดกวางจิ ที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ (EGATi ถือหุ้น 40%) ใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิง กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ ในปี 2565-2566 นอกจากนี้ยังลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 ตั้งอยู่ที่แขวงบอลิคำไซของ สปป.ลาว กำลังผลิต 289 เมกะวัตต์ (EGATi ถือหุ้น 30%) คาดว่าจะจ่ายไฟเข้าระบบได้ในปี 2562
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559