thansettakij
ม.มหิดลยกระดับเพาะคนพันธุ์ใหม่ไม่คิดแบบลูกจ้าง

ม.มหิดลยกระดับเพาะคนพันธุ์ใหม่ไม่คิดแบบลูกจ้าง

02 ต.ค. 2559 | 04:15 น.
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดมิติใหม่มหาวิทยาลัยไทยกับแนวคิด มหาวิทยาลัย"นักคิดแบบผู้ประกอบการ"(Entrepreneurial University)พลิกบทบาทมหาวิทยาลัยไม่ให้เป็นเพียงแค่ตลาดความรู้แต่ส่งเสริมสู่การเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการระดับพื้นฐาน ผ่าน 7 กลไก

ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล(CMMU)และผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบันเยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับกระแสสตาร์ตอัพและต้องการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเองกันอย่างล้นหลาม ประกอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของทางรัฐบาลที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาดบทบาทของภาคการศึกษา เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยต้องมุ่งเน้นสร้างระบบความคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) ปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นนักคิด เริ่มต้นคิดค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากนั้นจึงมองหาวิธีการแก้ไขแบบร่วมมือกัน (Co-creation) การยกระดับมหาวิทยาลัยสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยนักคิดแบบผู้ประกอบการ"จะช่วยผลักดันรูปแบบทั้งการเรียน การสอนและการทำวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ที่จะช่วยยกระดับทั้งด้าน สังคมเศรษฐกิจ และประเทศ

แนวคิด "มหาวิทยาลัยนักคิดแบบผู้ประกอบการ"(Entrepreneurial University) เป็นแนวคิดที่กลุ่มนักวิชาการ นักวิจัยและสถาบันการศึกษาฝั่งตะวันตกได้ปรับรูปแบบการทำงานของมหาวิทยาลัยในช่วง10 ปีที่ผ่านมาจากสาเหตุที่ว่าต้องการให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นอีกปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของประเทศโดยในปี 2555 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)ได้พัฒนากรอบแนวทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนักคิดแบบผู้ประกอบการที่ประกอบด้วยตัวแปรหลัก

คือ 1.นโยบายและกลยุทธ์การบริหาร ต้องสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างแท้จริง 2.สมรรถนะขององค์กรบุคลากรและสิ่งจูงใจ ลดข้อจำกัดต่างๆขององค์กรในการสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการ 3.หลักพัฒนาแนวคิดผู้ประกอบในการเรียนการสอน โครงสร้างหลักสูตรออกแบบเพื่อรองรับการพัฒนาผู้ประกอบการมีแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างความรู้และฝึกทักษะ 4.เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการ มีหลักรองรับกิจกรรมการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่การบ่มเพาะไอเดีย ไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าการเติบโตในตลาดมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจมี Co-Working space 5.ความเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้กับภาคธุรกิจ สร้างความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจภายนอกเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเรียนรู้ 6.ความเป็นสถาบันระหว่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการสร้างธุรกิจกับสถาบันในต่างประเทศทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และบริษัท 7.การวัดผลกระทบการเปลี่ยนแปลง มีการประเมินวัดผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยทั้งในมุมมองบุคลากรภายในและผลกระทบที่มีต่อธุรกิจในท้องถิ่น และสังคม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559