ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขึ้นอัตราเงินเดือนลูกจ้างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 64 แห่ง โดยมีผลให้ปรับขึ้นเงินเดือนกับลูกจ้างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีเงินเดือนตํ่ากว่า 43,890 บาทต่อเดือน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ รัฐวิสาหกิจที่กำหนดอัตราเงินเดือนแบบช่วงปรับขึ้นได้ไม่เกิน 2% แต่สำหรับเงินเดือนแบบขั้นให้ปรับได้ 0.5 ขั้นตามฐานเงินเดือน(หรือปรับได้ครึ่งขั้น) ทั้งนี้ มติ ครม. ให้มีผลย้อนหลังเช่นเดียวกับที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการไปเมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2557
จากข้อมูลปัจจุบันหน่วยงานรัฐวิสากิจทั้ง 64 แห่งมีลูกจ้างรัฐวิสาหกิจรวมกว่า 3 แสนคน เป็นผู้ที่มีเงินเดือนตํ่ากว่า 4 หมื่นบาท ประมาณ 1.9 แสนคน การปรับฐานเงินเดือนครั้งนี้จะทำให้ 64 รัฐวิสาหกิจมีภาระที่ต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้นราว 1,300 ล้านบาท โดยเป็นการปรับฐานเงินเดือนขึ้นทั้งระบบแม้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ปรากฏว่าจะมีผลประกอบการขาดทุนหรืออยู่ในช่วงการทำแผนฟื้นฟูธุรกิจยังได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนเช่นเดียวกัน
ด้านนายอำพล ทองรัตน์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) กล่าวว่า เมื่อครม.อนุมัติให้กับพนักงานที่เงินเดือนอยู่ในระดับขั้นต้นนั้นก็ต้องยอมรับมตดงกลาวแม้ให้ปรับเพิ่มเพียง2% และเพิ่มครึ่งขั้นหรือ 0.5 ขั้นเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ เดิมผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 1-43,890 บาท ขอปรับคนละ 1 ขั้นและผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 43,891 บาทถึง 113,520 บาท ขอปรับคนละครึ่งขั้น ส่วนผู้ที่มีโครงสร้างเงินเดือนแบบเปอร์เซ็นต์ ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 113,521 บาทขึ้นไปจนถึง 1.4 แสนบาทตามขั้นลำดับที่ 53 ของรัฐวิสาหกิจจะไม่ได้รับการปรับ โดยระบบที่ใช้การปรับขึ้นขั้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์ เงินเดือนไม่เกิน 43,890 บาท จะปรับให้ 4% หากเกินจาก 43,891 บาทถึง 113,520 บาทจะปรับขึ้น 2% เกินจากนั้นไปจะไม่ได้รับการปรับใดๆ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559