คอลลิเออร์ส ชี้พื้นที่อ่อนนุชยังมีศักยภาพ อัตราการดูดซับยังดีต่อเนื่อง เผยราคาที่ดินปรับขึ้นปีละกว่า 7-8% ส่งผลราคาขายคอนโดฯเปิดขายใหม่ในซอยเริ่มที่กว่า 1 แสนบาทต่อตร.ม. อนันดา ย้ำอ่อนนุช-แบริ่ง ศูนย์กลางในการเชื่อมต่อการเดินทาง ก่อให้เกิดความหลากหลายด้านความต้องการ ออริจื้น มุ่งพัฒนาโครงการตามแนวส่วนต่อขยาย เหตุราคาที่ดินยังสามารถพัฒนาโครงการเพื่อขายในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทได้
[caption id="attachment_107772" align="aligncenter" width="700"]
คอนโดมิเนียมที่เปิดขายรอบๆสถานีอ่อนนุช[/caption]
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ตลาดคอนโดมิเนียมรอบสถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุชว่า ปัจจุบันมีคอนโดมิเนียมสะสมอยู่ในพื้นที่ประมาณ 8,722 หน่วย แต่ขายไปได้แล้วประมาณ 96% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด ทำให้มีหน่วยเหลือขายไม่มากนัก และราคาขายของโครงการที่เพิ่งเปิดขายในปี 2559 ก็ปรับขึ้นมามากกว่า 1.3 แสนบาทต่อตารางเมตร สำหรับโครงการที่อยู่ริมถนนสุขุมวิทหรือในทำเลที่มีความพร้อม ส่วนโครงการที่อยู่ในซอยย่อยต่างๆ จะมีราคาขายเริ่มต้นมากกว่า 1 แสนบาทต่อตารางเมตร จากเดิมราคาขายเริ่มต้นที่ประมาณ 5-6 หมื่นบาทต่อตารางเมตร
“ราคาขายในพื้นที่นี้ปรับขึ้นมามากกว่า 7 - 8% ต่อปีโดยประมาณ ซึ่งโครงการที่อยู่ติดกับสถานีอ่อนนุชอาจจะปรับขึ้นมากกว่านี้ เพราะว่าที่ดินรอบๆ สถานีมีการปรับราคาขึ้นไปมากพอสมควร และมีที่ดินเหลือให้พัฒนาไม่มากแล้วในปัจจุบัน โครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา จึงมักจะอยู่ในซอยที่แยกออกจากถนนสุขุมวิทเป็นส่วนใหญ่ เพราะราคาที่ดินยังต่ำอยู่ ราคาที่ดินรอบสถานีอ่อนนุชในปัจจุบันอาจจะสูงถึง 7 - 8 แสนบาทต่อตารางวา และค่อยๆ ลดลงในพื้นที่ที่ไกลออกไป ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาโครงการที่มีราคาขายต่ำกว่า 1.3 แสนบาทต่อตารางเมตร จึงจำเป็นต้องเลือกซื้อที่ดินที่อยู่ในซอยเพื่อพัฒนาโครงการ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง มากกว่าซื้อเพื่อการลงทุนปล่อยเช่า”นายสุรเชษฐ กล่าว
สำหรับเจ้าตลาดรายใหญ่ที่มีการพัฒนาโครงการในพื้นที่อ่อนนุชมากที่สุดคือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) คาดว่ามีจำนวนหน่วยที่พัฒนาในพื้นที่กว่า 3,000 หน่วย รองลงมาคือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ประมาณ 1,400 หน่วย ระดับราคาขายอยู่ที่ประมาณกว่า 2.6 ล้านบาทต่อหน่วย
นายเสริมศักดิ์ ขวัญพ่วง ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการลงทุนบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นที่อ่อนนุช-แบริ่ง ถือเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อการเดินทางไม่ว่าจะเป็น เส้นทางเดิมไปสู่ภาคตะวันออก ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ผ่านถนนอ่อนนุชและ คลองพระโขนง ประเวศบุรีรมย์ หรือไปตามทางสุขุมวิท เชื่อมต่อย่านอุตสาหกรรม ย่านปู่เจ้าสมิงพราย บางปู และสมุทรปราการ รวมทั้งจากสามแยกบางนา เกตเวย์ ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สนามบินสุวรรณภูมิ, นิคมอุตสาหกรรมมากมาย, ท่าเรือน้ำลึก และแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งนี้ บริเวณอ่อนนุช-แบริ่ง เดิมเป็นชุมชนที่มีการพักอาศัยหนาแน่น ดังนั้นการสร้างคอนโดมิเนียม นอกจากจะเพื่อรองรับชุมชนในบริเวณนี้แล้ว รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายยังเชื่อมผู้พักอาศัยและผู้ทำงานในบริเวณจังหวัดสมุทรปราการ นอกจากนั้นยังมีผู้ที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ต้องการที่พักอาศัยที่สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพและเดินทางออกไปทำงานต่างจังหวัดได้ รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วย อีกทั้งบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์แสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดอย่าง ไบเทค และศูนย์การที่ใหญ่ที่สุดอย่าง บางกอกมอลล์ ในอนาคต
“จะเห็นได้ว่าทำเลดังกล่าวนี้ มีความต้องการที่หลากหลายและในปริมาณสูงมากแทบไม่มีข้อจำกัด อีกทั้งยังสามารถดึงดูดความต้องการจากพื้นที่ที่อื่นได้หลายทิศทาง ยังมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของโครงการที่พัฒนาก็ได้รับการตอบรับที่ดี ยังไม่เห็นว่าจะมีภาวะโอเวอร์ซัพพลายแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับสายสีม่วงจะเห็นได้ว่า ไม่มีการเชื่อมต่อกับแหล่งงานที่สำคัญอย่าง โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม อย่างบริเวณสมุทรปราการ ปู่เจ้าสมิงพราย และปากน้ำ รวมถึงแหล่งอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สายสีม่วงเป็นสายเชื่อมต่อกับชุมชนที่พักอาศัยเท่านั้นเอง ทำให้ความต้องการไม่หลากหลาย เมื่อเทียบกับสายสีเขียวช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง”นายเสริมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมุ่งเน้นพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมโซนตะวันออก โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าสถานีอ่อนนุชเป็นต้นไป ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่พัฒนาในโซนตะวันออกร่วม 20 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท
เหตุที่บริษัทมุ่งเน้นพัฒนาโครงการในโซนตะวันออก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งได้รับอานิสงค์จากโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย โดยในปีนี้บริษัทมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว 1 โครงการคือ นอตติ้งฮิลล์ สุขุมวิท-แพรกษา มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท
“การเปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าแบริ่ง-สำโรงในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่โซนตะวันออกได้เป็นอย่างดี ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่นี้อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการบริโภคของกลุ่มกลางที่ยังมีอีกเป้นจำนวนมาก”นายพีระพงศ์ กล่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559