กพร.จับมือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 อำนวยความสะดวกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังดึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่จากการทำเหมืองแร่ สร้างรายได้ ลดความขัดแย้ง ประเดิมล่าสุดมีผู้ประกอบการยื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่ดีบุกและตะกั่วแล้ว 3 แปลง ร่วม 1 หมื่นไร่
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4)
มีนโนบายเร่งขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการส่งเสริมการประกอบการในธุรกิจเหมืองถือเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวในพื้นที่ดังกล่าวได้
ดังนั้น กพร.และกอ.รมน.ภาค 4 จึงร่วมมือกัน ผลักดันให้มีการพัฒนาแหล่งแร่ในพื้นที่ศักยภาพแร่ที่มีอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น แร่ดีบุก ดินขาว ทองคำ ควอตซ์ ทรายแก้ว วุลแฟรม แมงกานีส ฯลฯ ให้เกิดกิจกรรมการทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยทางกอ.รมน.ภาค 4 จะเป็นหน่วยงานที่คอยอำนวยความสะดวกหรือประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถทำกิจกรรมเหมืองแร่ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตการใช้วัตถุระเบิดเพื่อทำการระเบิดหินหรือแร่ การประสานกับกรมป่าไม้ในการขอเข้าใช้ทำประโยชน์ รวมถึงการดูแลด้านความปลอดภัยในการเข้าทำเหมืองแร่ด้วย เป็นต้น
โดยปัจจุบัน กพร. และ กอ.รมน. ภาค 4 ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแร่ในพื้นที่เป้าหมายทั้งข้อมูลพื้นที่ศักยภาพแร่ ชนิดแร่ การทำเหมืองแร่ในอดีตและปัจจุบัน พร้อมทั้งได้มีการหารือกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ในพื้นที่เป้าหมายถึงปัญหาอุปสรรคในการประกอบกิจการเหมืองแร่ โดยมุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งจากนักลงทุนภายในและภายนอกประเทศ เข้ามาดำเนินกิจกรรมการทำเหมืองแร่ในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มมากขึ้น
นายสมชัย ชัยเสน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 1 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้การทำเหมืองแร่ชนิดต่างๆ กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทางภาคใต้และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ดีบุก ตะกั่ว และแมงกานีส เนื่องจากในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ มีศักยภาพของแร่ค่อนข้างมาก แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับการพัฒนา เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลต่อความปลอดภัยในพื้นที่ เมื่อกอ.รมน.ภาค 4 เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าหากมีการพัฒนาแหล่งแร่ในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยลดความขัดแยงหรือความไม่สงบในพื้นที่ได้
โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการในจังหวัดยะลาได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อการสำรวจแร่ดีบุกเข้ามาแล้ว 1 แปลง จำนวนพื้นที่ 8,025 ไร่ ยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาด เพื่อสำรวจแร่ดีบุก 1 แปลง พื้นที่ 936 ไร่ และยื่นคำขออาชญาบัตรผูกขาดแร่ตะกั่ว 1 แปลง พื้นที่ 455 ไร่ และล่าสุดมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ดีบุกไปแล้ว 1 แปลง ขนาดพื้นที่ 3,692 ไร่
Photo :
Pixabay ภาพปกไม่เกี่ยวข้อกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559