ปักธง‘วิทยาลัยการบินและคมนาคม’ นักศึกษาจบที่นี่..มีงานทำแน่นอน

30 ต.ค. 2559 | 12:00 น.
ขณะที่การผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินในภูมิภาคอาเซียนยังคงเดินหน้าต่อไป แต่กลับพบว่าสนามบิน สายการบินต่างๆ ยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยต้องการบุคลากรด้านการบินจำนวนมาก โดยเฉพาะในวิชาชีพนักบินที่พบว่ามีความต้องการมากกว่า 700 คนต่อปี ขณะที่สามารถผลิตนักบินได้เพียง 500 คนต่อปี ทำให้ยังขาดแคลนอีกกว่า 200 คนต่อปี

อีกปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการก้าวขึ้นเป็นฮับการบิน คือ เรื่องของความปลอดภัยที่ต้องได้มาตรฐานจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ (ICAO) ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของระบบการบินในประเทศต่างๆ ดังนั้นบุคลากรที่จะเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแล จึงต้องมีทักษะความรู้ ความสามารถเฉพาะด้าน จุดประกายให้มหาวิทยาลัยศรีปทุม ศึกษาและพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับ และก่อให้เกิดเป็นวิทยาลัยการบินและคมนาคมขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “พล.อ.อ.พิธพร กลิ่นเฟื่อง” คณบดีวิทยาลัยการบินและคมนาคม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ถึงแนวคิดและหลักสูตรใหม่นี้

 แนวคิดและเป้าหมายในการจัดตั้งวิทยาลัย

พล.อ.อ. พิธพร เล่าให้ฟังว่า แนวคิดในการจัดตั้งวิทยาลัยการบินและคมนาคมนี้ เกิดขึ้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างบุคลากรด้านการบินของประเทศ ซึ่งปัจจุบันก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และกำลังประสบปัญหาขาดแคลน ทั้งนี้หากย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน ที่ประเทศไทยเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เกิดความต้องการแรงงานหลายด้าน ทั้งด้านช่าง นักบิน บุคลากรการบินและภาคพื้นต่างๆ ตลอดจนด้านความปลอดภัย และยังมีแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการให้บริการของสนามบิน แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดเปิดทำการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรรองรับ มีเพียงสาขาบริหารการบิน ธุรกิจการบินเท่านั้น

ทำให้มหาวิทยาลัยมีแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร พร้อมจัดตั้งเป็นวิทยาลัยการบินและคมนาคม เพื่อผลิตบุคลากรด้าน Aviation Safety Management โดยเปิดทำการเรียนการสอนในสาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยการบิน เป็นหลักสูตรแรก โดยเริ่มตั้งแต่ภาคการเรียนนี้เป็นต้นไป และในอนาคตจะพัฒนาหลักสูตรด้านการขนส่งทางราง ต่อเนื่องทันที เพื่อรองรับการขยายตัวของการคมนาคม การขนส่งทางราง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รวมถึงรถไฟรางคู่ เป็นต้น

 ความโดดเด่นของหลักสูตรนี้

โดยสาระสำคัญของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการความปลอดภัยการบิน นี้มุ่งเน้นการเรียนรู้เรื่อง การจัดการความปลอดภัยด้านการบิน การเกิดอุบัติเหตุและการป้องกัน แผนงานความปลอดภัยการบิน กฏระเบียบและข้อบังคับด้านการบิน มาตรฐานการบินระหว่างประเทศ อุตุนิยมวิทยาการบิน ระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศ หลักการบินเบื้องต้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบิน ระบบสารสนเทศสำหรับการจัดการทางการบิน ฯลฯ ซึ่งผู้ที่เลือกเรียนในหลักสูตรควรมีพื้นฐานจากสายวิทย์ฯ เพราะจะทำให้มีแนวคิด วิเคราะห์ และเก็บรายละเอียดได้ดีกว่า

[caption id="attachment_109145" align="aligncenter" width="500"] วิทยาลัยการบินและคมนาคม วิทยาลัยการบินและคมนาคม[/caption]

เพราะเมื่อจบชั้นปีที่ 3 นักศึกษาสามารถที่จะเลือกเรียนว่าจะเป็น นักบิน ทั้งนักบินส่วนบุคคล (Private Pilot License: PPL) หรือ นักบินพาณิชย์ (Commercial Pilot Licence : CPL) ได้ โดยมีข้อกำหนดต้องผ่านการตรวจสุขภาพร่างกายและจิตวิทยาการบิน ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเกี่ยวกับการบิน และเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนเป็นนักบินเพิ่ม หรือหากต้องการจะศึกษาต่อจนสำเร็จชั้นปีที่ 4 ก็สามารถเลือกที่จะทำงานในด้านการจัดการท่าอากาศยาน , การส่งกำลังบำรุงหรือโลจิสติกส์ทางอากาศ หรืออื่นๆ ก็ได้เช่นกัน

 ความเชื่อมั่นในบุคลากรที่สำเร็จการศึกษา

คณบดี กล่าวอีกว่า หลักสูตรด้านความปลอดภัย เปิดทำการเรียนการสอนมาแล้วในหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์ เวียดนาม ออสเตรเลีย รวมถึงในยุโรปและอเมริกา โดยหลักสูตรนี้ผู้เรียนจะมีค่าใช้จ่ายราว 3.2-3.4 แสนบาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี แต่หากจะเลือกเป็นนักบิน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกกว่า 2 ล้านบาท อย่างไรก็ดีเพื่อให้หลักสูตรมีความเข้มแข็ง วิทยาลัยได้ร่วมกับสถาบันที่ตรวจสอบหลายแห่ง ทั้งสถาบันการบินพลเรือน, เวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศ, การบินไทย ฯลฯ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาร่วมเป็นพันธมิตรกับสายการบิน ท่าอากาศยาน และหน่วยงานต่างๆ ในการรองรับบุคลากรเข้าร่วมทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้มั่นใจได้เลยว่านักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการบินและคมนาคม จะมีงานทำอย่างแน่นอน เพราะตลาดยังเปิดกว้างมาก

“เพราะเป็นหลักสูตรใหม่ การเรียนการสอนจึงต้องอาศัยพันธมิตรในวงการการบิน ทั้งอาจารย์ผู้สอน ก็ใช้บุคลากรในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินหลายๆ แห่ง ที่ร่วมมาเป็นพันธมิตร ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการได้ศึกษาดูงานจากของจริง ซึ่งทักษะเหล่านี้บางครั้งในห้องเรียนไม่มี และต้องเกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงประสบการณ์ตรงที่นักศึกษาได้สัมผัสเอง”

ด้านการสร้างแบรนด์ ขณะนี้วิทยาลัยเริ่มโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งการทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผ่านโครงการแนะนำในโรงเรียนมัธยมศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับนักเรียน ซึ่งพบว่ามีนักเรียนจำนวนมากสนใจ โดยในปีการศึกษาแรกนี้มีผู้สนใจสมัครเรียนทันทีที่เปิดจำนวน 26 คน ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นเชื่อว่าในอนาคตจะมีผู้สนใจเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559