รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เพิ่มศักยภาพท่องเที่ยวโซนตะวันออก
ความคืบหน้าไฮสปีดเส้นกรุงเทพฯ-ระยองนี้ระหว่างการปรับปรุงรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)เพิ่มเติมครั้งที่ 4 ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการก่อนส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)พิจารณานำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) ต่อไป
ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้วและคณะกรรมการรถไฟฯเห็นชอบรายงานการร่วมลงทุนไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ล่าสุดอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณาถึงรูปแบบการร่วมลงทุนหลังจากนั้นจึงจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการพีพีพี)อนุมัติให้ตั้งคณะกรรมการมาตรา 13 กำหนดการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคาต่อไป
จุดเริ่มต้นของโครงการอยู่ที่สถานีลาดกระบัง ผ่านสถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา ไปสิ้นสุดที่สถานีระยอง รวมระยะทาง 193 กิโลเมตร เป็นรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร โดยมีเดโป้หรือศูนย์ซ่อมบำรุงก่อนเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา และมีอุโมงค์ขนาดใหญ่รูปแบบอุโมงค์เดี่ยวแต่ก่อสร้างให้เป็นทางคู่ที่เขาชีจรรย์ยาวราว 300 เมตรใช้ระยะเวลาการเดินทางจากลาดกระบังถึงระยองประมาณ 1 ชั่วโมง เบื้องต้นนั้นจุดสิ้นสุดทางรถไฟปัจจุบันอยู่ที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แนวเส้นทางจะใช้เกาะกลางของทางหลวงหมายเลข 36(ทางเลี่ยงเมือง) จะสามารถตัดเข้าสู่เมืองระยองได้จากทางหลวงหมายเลข 3138 โดยโครงสร้างสถานีวางคร่อมอยู่บน ทล.36
ส่วนด้านการเวนคืนสำหรับการก่อสร้างไฮสปีดเทรนเส้นทางสู่ภาคตะวันออกนี้จะมีการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 836 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่กรุงเทพฯ 38 ไร่ ฉะเชิงเทรา 550 ไร่ ชลบุรี 120 ไร่ ระยอง 127 ไร่โดยจะมีการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างจำนวน 153 หลัง สิ่งปลูกสร้างที่บุกรุกพื้นที่เขตทางรถไฟอีก 193 หลัง
สำหรับวงเงินลงทุนไฮสปีดเทรนเส้นทางนี้จะใช้รูปแบบ PPP Net Cost มีวงเงินลงทุนประมาณ 152,448 ล้านบาทโดยเอกชนจะลงทุนทั้งงานโยธาราว 111,588 ล้านบาท งานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถราว 32,830 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ ราว 5,937 ล้านบาท ส่วนรัฐจะจ่ายค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินราว 2,093 ล้านบาท
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะต้องบูรณาการเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและการดึงดูดนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นจังหวัดฉะเชิงเทราที่จะต้องเร่งยกระดับชุมชนด้านที่อยู่อาศัยให้ก้าวสู่ระดับมาตรฐานโลกรองรับการเติบโตของเมืองกรุงเทพฯส่วนชลบุรี ศรีราชา ปัจจุบันได้รับการขนานนามว่าเมืองศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ อีกทั้งยังเป็นเมืองรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตและเมืองอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่นเดียวกับพัทยา สัตหีบ ระยอง เมืองในเขตท่องเที่ยวภาคตะวันออกทั้งในเชิงธุรกิจ ครอบครัวและสุขภาพ อีกทั้งระยองยังได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองนานาชาติมาตรฐานโลกน่าอยู่ที่สุดในอาเซียนมีทั้งการวิจัยด้านอาหารและไบโออีโคโนมีอีกด้วย
ทั้งนี้รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองยังจะเชื่อมโยงท่าอากาศยาน 3 แห่งคือสุวรรณภูมิ ดอนเมืองและอู่ตะเภา สามารถเชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งทางถนน ทางเรือและทางอากาศได้อย่างครอบคลุมมากขึ้นจึงเป็นการเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวทางทะเลได้เป็นอย่างดี คาดว่าปี 2560 นี้คงจะได้เห็นความคืบหน้าด้านการประมูลหลังจากที่สคร.เสนอคณะกรรมการพีพีพีพิจารณาแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559