ท่าเรือแหลมฉบังเสนอแผนลงทุนพัฒนาขั้นที่ 3 พร้อมรองรับ 18 ล้านตู้/ปี

02 พ.ย. 2559 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2559 | 14:53 น.
ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทลฉ. ได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการพัฒนา ทลฉ. ขั้นที่ 1 และ 2 ภาพรวมของรูปแบบโครงการพัฒนา ทลฉ. ขั้นที่ 3 ทั้งทางวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงมาตรการและการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบในหัวข้อ “การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปฐมนิเทศ โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม และการออกแบบรายละเอียดสำหรับการก่อสร้างท่าเรือแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป รวม 344 คน ณ โรงแรมชลจันทร์ พัทยา รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี

ในส่วนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว นั้น หลังจากศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรมและด้านการเงินแล้ว จะต้องดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม EHIA ให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 ต่อเมื่อไม่มีผู้คัดค้านจากประชาชน จากนั้นจึงจะเสนอโครงการต่อคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานต่างๆ เห็นชอบ     เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการฯ ต่อไป คาดว่าจะสามารถเปิดท่าเทียบเรือชุดแรก (F1 และ F2) ในปีงบประมาณ 2566 (ภายใต้การดำเนินงานด้าน EHIA      แล้วเสร็จ) จากผลการศึกษาฯ จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะบริหารแบบ Landlord Ports ซึ่งมีรูปแบบสัญญาสัมปทานแบบ BOT เป็นรูปแบบที่เหมาะสม เพราะ กทท. ยังคงกรรมสิทธิ์ในท่าเรือและสามารถกำหนดนโยบายการดำเนินกิจการท่าเรือของประเทศได้ โดยเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารกิจการท่าเรือขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของ ทลฉ.กับท่าเรืออื่นๆ ในภูมิภาค

สำหรับด้านกายภาพของโครงการฯ นั้น ประกอบด้วยท่าเทียบเรือตู้สินค้าจำนวน 4 ท่า ความยาวหน้าท่า ท่าละ 1,000 เมตร จำนวน 2 ท่า และความยาวหน้าท่า ท่าละ 750 เมตร จำนวน 2 ท่า มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 7 ล้านทีอียู./ปี ท่าเทียบเรือ Ro-Ro ความยาวหน้าท่า 920 เมตร จำนวน 1 ท่า มีขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์ผ่านท่าได้ 1 ล้านคัน/ปี  ท่าเทียบเรือชายฝั่ง จำนวน 1 ท่า ความยาวหน้าท่า 500 เมตร มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 1 ล้านทีอียู./ปี ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 1 ล้านทีอียู./ปี     ซึ่งหากเปิดให้บริการครบทุกท่า ทลฉ. จะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้านทีอียู./ปี