ยอดคนไทยไปเวิร์ก&ทราเวลวูบ 40%
นางต้องจิตร หล่อวินิจนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเวอร์ซีส์ เอ็ด กรุ๊ป จำกัดศูนย์แนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ และที่ปรึกษาโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนในประเทศแถบยุโรป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มนักศึกษาที่นิยมเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยว (เวิร์กแอนด์ทราเวล) ในต่างประเทศซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยม เพราะได้ทั้งประสบการณ์ ภาษา และรายได้ กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการลดลงไปราว 20-25%
“จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเวิร์กแอนด์ทราเวลลดลงอย่างมากราว 40% ในปี 2558 สาเหตุหลักเกิดจากการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาปิดเทอมของสถาบันการศึกษาในเมืองไทย ให้เป็นไปตามอาเซียน ทำให้จากเดิมที่ปิดเทอมในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมแทน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการปิดเทอมของนักศึกษาในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เปิดรับนักศึกษาเวิร์กแอนด์ทราเวลใหญ่สุด”
โดยอเมริกา เป็นประเทศที่ให้โควตานักศึกษาเดินทางเข้าร่วมเวิร์กแอนด์ทราเวลมากที่สุด เพราะต้องการแรงงานพาร์ตไทม์มาเสริมด้านบริการในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งจะมีผู้คนทั้งในท้องถิ่น (อเมริกา) และต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยแรงงานเสริมที่เข้ามาจะเปิดรับทั้งนักศึกษาจากในประเทศและต่างประเทศทั้งในยุโรป และเอเชีย แบ่งช่วงเวลาการทำงานเป็น 2 ช่วง (คือเดือนมีนาคม-พฤษภาคมและมิถุนายน-สิงหาคม) โดยไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนและมีผู้เข้าร่วมเวิร์กแอนด์ทราเวลจำนวนมาก โดยสูงสุดมีจำนวนมากถึง 1 หมื่นคนต่อปี ในช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และมีคู่แข่ง (ประเทศที่ส่งนักศึกษาเข้าร่วมเวิร์กแอนด์ทราเวลเช่นกัน) สำคัญคือ ประเทศฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ดี การที่ขยับเวลาปิดเทอมมาชนกับการปิดเทอมของอเมริกา ทำให้จำนวนโควตาเด็กไทยลดลง เพราะอเมริกาต้องจำกัดโควตาให้กับเด็กอเมริกาก่อน ขณะที่ฟิลิปปินส์ยังปิดเทอมในช่วงเวลาเดิมจึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด แต่ในอนาคตหากฟิลิปปินส์ขยับเวลาปิดเทอมเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
“จุดอ่อนของเด็กไทย คือ เรื่องของภาษาอังกฤษ และทัศนคติ ต่างกับเด็กฟิลิปปินส์ ซึ่งมีภาษาดีกว่า และรักงานบริการมากกว่า แต่ในอนาคตเมื่อฟิลิปปินส์เปลี่ยนเวลาปิดเทอมก็คาดว่าจะเจอปัญหาเช่นเดียวกับไทยโดยปัจจุบันนี้จำนวนเด็กไทยที่เข้าร่วมเวิร์กแอนด์ทราเวลลดลงเหลือประมาณ 5,000-6,000 คนต่อปี ขณะที่อเมริกาก็จะประสบปัญหาขาดแรงงานพิเศษ”
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ขณะนี้มีการพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหาทางออกและทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เพราะการจัดทำให้เกิดโครงการนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาด้านภาษา และเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน 2559