ญี่ปุ่นใจดียกรถไฟมือสองให้ร.ฟ.ท.24 คันล็อตแรก 10 คันถึงไทย 24 พ.ย.นี้

25 พ.ย. 2559 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2559 | 11:09 น.
“วุฒิชาติ” เผยผลเจรจาญี่ปุ่นฉลุยได้รับรถไฟโดยสารมือสองสภาพดีมาใช้งานฟรี 24 คัน ดีเดย์ล็อตแรก 10 คันรับ 24 พ.ย.นี้ ที่เหลือมาถึงไทยมีนาคมปีหน้า ด้านรถไฟดีเซลไฟฟ้าขบวนใหม่ 4 เส้นทาง คาดรายได้ค่าโดยสารทะลุ 3,500 ล้านบาท

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงผลการเดินทางไปเจรจากับญี่ปุ่นต่อกรณีขอรถไฟโดยสารมือสองสภาพดีมาใช้งานในประเทศไทยนั้น ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 นี้จะได้รับรถจำนวน 10 คันแรกมาให้บริการ ส่วนล็อตที่ 2 อีกจำนวน 14 คันจะได้รับในเดือนมีนาคม 2560

“ในครั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นให้ฟรี ส่วนร.ฟ.ท.จะต้องออกค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเองทั้งหมด ซึ่งรถที่ได้มาจะนำไปใช้งานในเส้นทางต่างๆ ส่วนการบำรุงรักษานั้นร.ฟ.ท.จะต้องออกค่าใช่จ่ายเองทั้งหมดเช่นกัน ดังนั้นปี 2560 ก็จะมีปริมาณรถโดยสารให้บริการมากยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบันที่มีกว่า 200 คัน”

นอกจากนั้นยังกล่าวถึงความสำเร็จของการเปิดให้บริการเดินรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานีไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าได้รับการตอบรับที่ดีโดยมีประชาชนแห่จองใช้บริการเต็มไปจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ส่วนอีก 2 เส้นทางคือกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ และ กรุงเทพฯ-หนองคาย นั้นกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2559 นี้โดยทั้งหมด 115 ตู้แบ่งเป็น 9 ขบวนๆละ 13 ตู้มีจำนวน 8 ขบวนและ 11 ตู้อีก 1 ขบวน

“มั่นใจด้านการให้บริการมากขึ้นเนื่องจากพบว่ามียอดการจองโดยสารยาวไปจนถึงเดือนธันวาคมนี้ซึ่งร.ฟ.ท.ต้องขออภัยหากผู้โดยสารอาจจะไม่ได้รับความสะดวกเรื่องการจองตั๋วเดินทางในช่วงนี้ซึ่งร.ฟ.ท.จะพยายามอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด โดยขบวนใหม่จะบรรจุในเส้นทางไป-กลับวันละ 1 เที่ยวแล้วยังมีรถโดยสารรูปแบบอื่นคอยให้บริการอีกด้วยและในอนาคตหากได้รับการตอบรับที่ดีก็จะเร่งจัดหารถเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องต่อไป”

ปัจจุบันร.ฟ.ท.ทยอยรับมอบรถขบวนใหม่อย่างต่อเนื่องพร้อมกับการเร่งจัดหาหัวรถจักรรุ่นใหม่เข้ามาให้บริการ อีกทั้งยังมีรถโดยสารรุ่นใหม่รูปแบบรถดีเซลไฟฟ้าเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก็จะเร่งจัดหาเข้ามาให้บริการโดยเร็วต่อไป

สำหรับการปรับเพิ่มค่าโดยสารนั้นช่วง 6เดือนนี้ยังจะไม่ปรับเพิ่มแต่อย่างใดเพราะจะเป็นการคืนกำไรให้กับผู้ใช้บริการ หลังจากนั้นจะขอประเมินผลการตอบรับด้านการให้บริการรถไฟขบวนนี้ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนโดยคาดว่าพ้น 6 เดือนไปแล้วจึงจะพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารส่วนการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารคาดว่าจะเพิ่มอีกไม่น้อยเช่นกันเมื่อเทียบกับปริมาณตู้โดยสารขนาดขบวนเดิมที่คิดเป็นประมาณ 70% ส่วนรถไฟขบวนใหม่ตู้โดยสารมากถึง 13 ตู้หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของขบวนเดิม

“ค่าโดยสารจะขอประเมินช่วงระยะเวลาให้บริการ 3 เดือนแรกนี้ก่อนจากนั้นจะพิจารณาปัจจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้อง อาทิ ต้นทุนกับของเดิมที่มีอยู่ ความสะดวกสบายที่ให้บริการ ตลอดจนการแข่งขันของระบบขนส่งมวลชนอื่นๆประกอบด้วยแต่ก็คงไม่ปรับสูงมากเกินไป ทั้งนี้เมื่อความจุของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้นจะส่งผลให้รายได้จากค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,200 ล้านบาท/ปี คาดว่าจะเพิ่มอีกราว 300 ล้านบาทเมื่อสามารถเปิดให้บริการรถไฟขบวนใหม่ครบทั้ง 4 เส้นทาง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,212 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2559