รัฐบาลเข็นนโยบายเร่งรัดลงทุนรูปแบบคลัสเตอร์ 9 กลุ่มอุตสาหกรรมไม่ขึ้น เอกชนยังเมิน ติดปัญหาแก้อุปสรรค การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และเงื่อนไขเวลาที่สั้น ส่งผลโครงการขนาดใหญ่ยื่นขอสิทธิประโยชน์ไม่ทันภายในปีนี้ ต้องหันไปลงทุนในอีอีซีแทน “เจน” เผยขอประเมินการดำเนินงานอีกครั้ง ว่าภาครัฐจะดันมาตรการต่อหรือไม่
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าวขึ้นมา มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อมาเร่งรัดให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ ได้แก่ ได้แก่ คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม คลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯ คลัสเตอร์แกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คลัสเตอร์ดิจิทัลคลัสเตอร์หุ่นยนต์ คลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร และคลัสเตอร์อากาศยานและชิ้นส่วน
โดยการลงทุนดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ จะให้สิทธิประโยชน์สูงสุด ภายใต้เงื่อนไขจะต้องมีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอภายในสิ้น2559 และเปิดดำเนินการภายในปี 2560 ซึ่งคณะกรรมการฯได้มีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนไว้จะมีไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท โดยเป็นในส่วนของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯถึง 2.41 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอภายในสิ้นปีนี้แล้ว พบว่ายังไม่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เห็นได้จากข้อมูลของบีโอไอที่รายงานไว้ในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา(ไม่รวมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย) มีนักลงทุนมายื่นขอส่งเสริมการลงทุนเพียง 27 โครงการ เงินลงทุน 2.53 หมื่นล้านบาทและเกือบทั้งหมดเป็นโครงการขนาดเล็กที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนรวมกว่า 1.46 หมื่นล้านบาท ขณะที่คลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯ มีเงินลงทุนเพียง 4,000 ล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวและก่อสร้างที่นาน แม้จะมีความสนใจแต่ก็ไม่สามารถยื่นขอบีโอไอได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะยังมีความลังเลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสภาพตลาดที่ยังถดถอยอยู่ ประกอบกับภาครัฐยังไม่ได้ให้การสนับสนุนกับภาคเอกชนอย่างเต็มที ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุนที่มีอยู่ในแต่ละคลัสเตอร์ อีกทั้ง ด้วยเงื่อนไขที่การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ที่ยากต่อการปฏิบัติของภาคเอกชน เมื่อยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนไปก็ติดเงื่อนไขในส่วนนี้ เห็นได้จากขณะนี้มีโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนไปกว่า 84 โครงการ เงินลงทุนกว่า 5.21 หมื่นล้านบาท ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติลงทุนจากบีโอไอจึงมองว่านโยบายเร่งรัดลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์นี้ เป็นเพียงแนวคิด นำมาปฏิบัติจริงได้ค่อนข้างน้อย
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการฯจะติดตามประเมินผลการดำเนินงานหลังสิ้นปีนี้ว่า จะมีการต่อมาตรการด้านบีโอไอต่อไปหรือไม่ หรือว่าจะสิ้นสุดเพียงสิ้นปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ มีความสนใจที่จะไปลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีแทน
นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า การขับเคลื่อนลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย น่าจะมาจากอุปสรรคและปัญหาที่เป็นข้อเสนอของนักลงทุนยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล ในขณะที่มาตรการส่งเสริมของบีโอไอเหลือระยะเวลากว่า 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งประเมินแล้วคงจะไม่มีนักลงทุนเข้ามายื่นขอส่งเสริมการลงทุนมากนัก
ในขณะเดียวกันนักลงทุนส่วนใหญ่ อาจจะชะลอการลงทุนออกไป เพื่อไปใช้สิทธิประโยชน์การลงทุน ในพื้นที่อีอีซีแทน หลังจากมีความชัดเจนในปีหน้า โดยเฉพาะคลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯ ที่แต่ละโครงการมีมูลค่าลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ที่กำลังจะเข้าไปลงทุน ซึ่งเห็นได้จากล่าสุดทางบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ได้มีแผนนำ 3 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในอีอีซีแล้ว จากเดิมที่จะใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ เนื่องจากไม่สามารถยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,212 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2559