ดอกเบี้ยขาขึ้น ผลต่อความดันเศรษฐกิจ

28 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2559 | 09:32 น.
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่เพิ่มจาก 0.25-0.5% มาอยู่ที่ 0.5-0.75% เมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ และเป็นครั้งแรกในการปรับดอกเบี้ยในปีนี้ และครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการเฟดที่จะปรับระดับดอกเบี้ยคาดการณ์ขึ้น โดยในปี 2560 ได้ปรับเป็น 1.375% จาก 1.125% ปี 2561 เป็น 2.125% จาก 1.875% ปี 2562 เป็น 2.875% จาก 2.625% และระยะยาวเป็น 3% จาก 2.875%

ความชัดเจนของเฟดต่อนโยบายดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เป็นการเปิดประตูโลกสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัว

นักวิเคราะห์ประเมินว่า การปรับคาดการณ์ดังกล่าว เท่ากับว่าเฟดตั้งใจจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2560 จำนวน 3 ครั้งจากเดิม 2 ครั้ง ส่วน ปี 2561 และ 2562 ยังคงไว้ที่ 3 ครั้งเท่าเดิม และยังเป็นตัวสะท้อนว่าเฟดมีโอกาสที่จะปรับมุมมองดอกเบี้ยขึ้นได้อีก แม้ว่าเฟดจะยังคงย้ำถึงการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เงินเฟ้อปรับพุ่งสูงขึ้น คาดว่าเฟดจะเปลี่ยนการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น

จากสัญญาณที่ถูกส่งออกมาในครั้งนี้ กดดันทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทองคำ โดยเฉพาะสินทรัพย์กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ได้มีแรงเทขายทั้งตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตร ทองคำ และหุ้นออกมาค่อนข้างมาก ราคาทองคำโลกปรับลดลงจาก 1,360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ เหลือ 1,140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ซึ่งเป็นผลจากนักลงทุนหันไปถือสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า

ส่วนตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติขายต่อเนื่อง ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2559 ถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-22 ธ.ค.) ยอดซื้อสะสมซื้อเหลือ 7.1 หมื่นล้านบาท

ฟากตลาดเงินที่สะท้อนจากดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ(US Dollar Index) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าที่สุดในรอบ 13 ปี ขณะที่กดค่าเงินทั่วโลก โดยสกุลยูโร อ่อนค่าลงมาแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี ส่วนเงินบาทยังอ่อนค่าเล็กน้อย ล่าสุดวันที่ 23 ธันวาคม อยู่ที่ 36.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หนุนให้กองทุนทั่วโลกต้องปรับพอร์ต และดึงเงินกลับสหรัฐฯ เนื่องจากคาดหวังผลตอบแทนที่ดีขึ้น ขณะที่ฝั่งเอเชียยังต้องเผชิญแรงขายของต่างชาตินักค้าเงินคาดว่าด้วยกระแสเงินที่ไหลเข้าสหรัฐฯ และการเก็งกำไรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเนื่อง จะดึงให้เงินบาทอ่อนค่ายาว และน่าจะไปทดสอบ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้ในไม่ช้า ซึ่งจะยิ่งกดดันทำให้เงินไหลออก

โฟกัสมาที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยจากการประมวลความเห็นจากนักวิเคราะห์ทั้งภาคตลาดเงินและตลาดทุน เห็นว่าตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2560 จะมีแรงกดดันด้านมากขึ้น ขณะที่การประชุมกนง.เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50 %ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นับเป็นการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ครั้งที่ 13ติดต่อกันของ กนง. ที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยปิดท้ายปี

ความเห็นของรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) คาดว่าการประชุมกนง.ครั้งแรกของปี 2560 ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% แต่มีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 หากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายทรัมป์ร้อนแรงและส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนผันผวนมาก

การให้ความเห็นของเธออยู่ภายใต้ความเชื่อที่ว่า กนง.ยังต้องติดตามผลของการดำเนินโยบายของสหรัฐฯ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเสถียรภาพด้านการเมืองและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป
สอดคล้องกับฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทรีนิตี้ จำกัด ที่มองว่ากนง. จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.5 % ไปอย่างน้อยกจนกระทั่งช่วงกลางปี 2560 โดยประเมินว่าช่วงครึ่งแรกของปีหน้าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็จะทำให้กนง.ไม่มีแรงกดดันมากที่จะต้องใช้เครื่องมือดอกเบี้ยในการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้บล.ทรีนิตี้มองว่าความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่มากใน 3 ด้าน คือ 1. การชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลากยาวถึงไตรมาส 1ปีหน้า 2. การค้าขายระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากนโยบายการค้าสหรัฐฯในยุคสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ และ3.การบริโภคภาคเอกชนที่ได้มีการดึงกำลังซื้อในอนาคตมาใช้ในปี 2559 แล้ว

จากที่กล่าวมาใน 3 ประเด็นข้างต้นบล.ทรีนิตี้ มองว่า ล้วนแล้วแต่ทำให้จีดีพีของไทยในไตรมาส 1 ปี 2560 อาจโตได้อย่างมากเพียงแค่ระดับ 3.0-3.2 % เทียบไตรมาส 1 ปี 2559โดยอาจต้องอาศัยการลงทุนภาครัฐเป็นตัวช่วยประคับประคองเศรษฐกิจต่อไป

อีกมุมมองที่น่าสนใจจากแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย โดยสำนักวิจัยบล.ทิสโก้ คาดว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2560 แม้จะมีแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เนื่องจากความต้องการสินเชื่อยังอยู่ในระดับต่ำ และคุณภาพของสินทรัพย์ยังคงด้อยค่าลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีบล.ทิสโก้ มองว่าแรงกดดันในการขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2560 หลังอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงพลิกกลับมาเป็นลบในไตรมาส 4 ของปีดังกล่าว เนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่ากนง.จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปี 2561 ภายหลังการเลือกตั้งในช่วงปีปลายปี 2560 เสร็จสิ้นลง

ทั้งหมด คือ แรงกระเพื่อมด้านดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ทำให้ดอกเบี้ยโลกพลิกเป็นขาขึ้น เช่นเดียวกับทิศทางดอกเบี้ยของไทย กลางปี 2560 เป็นต้นไปแรงกดดันมาแน่นอนสิ่งที่จะตามมา คือ เมื่อดอกเบี้ยขึ้นกระทบหนี้ภาคครัวเรือน นอกจากนี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25 -28 ธันวาคม 2559