จีนทุ่ม 18 ล้านล.ขยายระบบราง เพิ่มทางรถไฟทั่วประเทศ 30,000 กิโลเมตรภายใน 3 ปี

08 ม.ค. 2560 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2560 | 15:18 น.
จีนมีแผนเพิ่มการลงทุนอีก 3.5 ล้านล้านหยวน หรือ 503,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 18 ล้านล้านบาท) สำหรับการขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟออกไปทั่วประเทศภายในปี 2563 โดยโครงการเมกะโปรเจ็กต์ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับการเชื่อมโยงด้านการคมนาคม

ภายใต้แผนการนี้จะเป็นการขยายเพิ่มเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงอีกกว่า 30,000 กิโลเมตร ระยะทางซึ่งยาวกว่าความยาวเส้นทางหลวงระหว่างเมืองนิวยอร์กกับลอสแองเจลีสประมาณ 6.5 เท่าจะครอบคลุมพื้นที่ 80% ของหัวเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศของจีน

การขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปทั่วประเทศจะเป็นผลดีกับบริษัทผู้ผลิตและจัดหาวัสดุและเทคโนโลยีก่อสร้างทางรถไฟอย่าง ซีอาร์อาร์ซี คอร์ป. และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจและเอกชนที่มีอยู่หลายรายในประเทศจีน อาทิ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่นคอร์ป. และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป จำกัด เพราะเพียงมีข่าวแผนลงทุนพัฒนาเครือข่ายการรถไฟประกาศออกมา ก็ปรากฏว่าราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ต่างปรับสูงขึ้นรับข่าวดี อาทิ หุ้นของบริษัทซีอาร์อาร์ซีฯ ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดฮ่องกง ราคาพุ่งขึ้น 1.5% ขณะที่หุ้นของไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น ราคาขยับขึ้น 2.1% และหุ้นของไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป ปรับขึ้น 0.8%

แม้ว่าจีนจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราชะลอตัวลงแต่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญด้านการลงทุนขยายเส้นทางการรถไฟออกไปทั่วประเทศ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งยังช่วยนำความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆของประเทศอย่างทั่วถึงและเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นไปในตัว เป็นไปตามนโยบายบริหารประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง นอกจากนี้ยังมุ่งกระจายผลกำไรและให้บทบาทกับบริษัทเอกชนเข้ามารับงานในด้านนี้ด้วย ยกตัวอย่างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนอนุมัติให้บริษัทเอกชนเข้ามาเป็นผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถไฟในเขตเมืองเส้นทางหนึ่ง

T10-3324b จากสถิติของทางการจีนระบุว่า ในช่วงสิ้นปี 2558 จีนมีเครือข่ายเส้นทางรถไฟทั่วประเทศรวมระยะทาง 121,000 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 19,000 กิโลเมตร ขณะที่ตัวเลขล่าสุดจากธนาคารโลกเท่าที่มีอยู่คือสิ้นปี 2557 ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกา มีเส้นทางรถไฟรวมทั้งสิ้นความยาว 228,218 กิโลเมตร

เพื่อเป็นการเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมภายในประเทศซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง รัฐบาลจีนได้เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุนผลักดันโครงการ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟที่เชื่อมโยงระหว่างเมือง (intercity line) และเส้นทางเชื่อมมณฑลต่างๆของจีน (regional line)

นายหยาง ยู่ตง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการรถไฟแห่งชาติของจีน เปิดเผยว่า การลงทุนในอนาคตจะมุ่งเน้นไปที่การขยายเพิ่มเส้นทางรถไฟสู่หัวเมืองชั้นในในภาคตะวันตกของประเทศซึ่งยังมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจน้อยกว่าเมืองชายฝั่งด้านตะวันออก เขายอมรับว่าการตัดเส้นทางรถไฟเข้าสู่พื้นที่ชนบทที่ยังคงยากจนจะเป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดกำไร แต่ก็เชื่อมั่นว่า ผลประกอบการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านพ้นไปและจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนในระยะเวลาไม่นานเกินไปนัก เนื่องจากเส้นทางรถไฟเส้นใหม่ๆที่เกิดขึ้นจะอำนวยความสะดวกให้มีการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เกื้อหนุนให้มีการเดินทางไปมาหาสู่และมีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้นด้วย ส่วนประเด็นในด้านราคาตั๋วโดยสารนั้น ยังไม่มีการให้รายละเอียดมากนัก แต่ผู้บริหารการรถไฟแห่งชาติของจีนก็เน้นย้ำว่าจะปรับราคาค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจหรือผู้ให้บริการรถไฟสามารถอยู่รอดในระยะยาว และสามารถขยายบริการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

สิ่งที่รัฐบาลจีนดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนก่อสร้างและขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟ ก็คือการปฏิรูปโครงสร้างการรถไฟด้วยซึ่งครอบคลุมมาตรการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนหรือรับสัมปทานการให้บริการ รวมทั้งจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร ยกตัวอย่างกรณีของบริษัท ไชน่า เรลเวย์คอร์ป. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนในหลายโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการรถไฟเป็นเงินกว่า 6 แสนล้านหยวน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับภาระขาดทุน(หลังหักภาษี) อยู่ถึง 5,570 ล้านหยวน (ข้อมูล ณ 9 เดือนแรกของปี 2559) นอกจากนั้นยังมีหนี้สะสมสูงถึง 4.29 ล้านล้านหยวน จึงจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปเป็นการเร่งด่วน ซึ่งมาตรการหนึ่งที่นำมาใช้แล้วก็คือ การปรับขึ้นค่าตั๋วโดยสาร

นักวิเคราะห์ยกตัวอย่างกรณีของบริษัท กวงเฉินเรลเวย์ฯ ซึ่งเป็นของรัฐเช่นกัน หากมีการเพิ่มราคาตั๋วโดยสารระยะทางไกล 30% ก็จะสามารถทำกำไรเพิ่มได้ถึง 68% กวงเฉินเรลเวย์ เป็น 1 ใน 3 ของบริษัทที่ให้บริการรถไฟที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เน้นให้บริการผู้โดยสารเป็นหลัก โดยให้บริการในเส้นทางแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลและยังจับมือกับบริษัท เอ็มทีอาร์ของฮ่องกง ให้บริการผู้โดยสารที่ต้องการสัญจรระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับเกาะฮ่องกงด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560