ตลาดตู้เติมเงินมือถือเดือด “ทรู” ลงสนามป่วน เดินเกมสกัดคู่แข่งภายใต้ชื่อ “ตู้เติม ทรู”ทั่วประเทศ 4 หมื่นเครื่อง ครอบคลุม 7-11 ทุกสาขา วงการชี้ไม่หมู มีค่าบริหารจัดการ ถ้ารายได้ต่อเดือนไม่ถึงหมื่นไม่คุ้ม “กะปุกท็อปอัพ-บุญเติม” ไม่ยี่หระ ลุยตั้งเพิ่มกว่า 2 หมื่นตู้
การสยายปีกสกัดกั้นคู่แข่งขันของกลุ่มทรู สร้างความสั่นสะเทือนให้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องพอสมควร แม้กลุ่มทรูจะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนกับการปฏิเสธการขายบัตรเติมเงินเอไอเอส ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) แต่ไม่อาจปฏิเสธสายสัมพันธ์กับกลุ่มซีพีได้ โดยเฉพาะขณะนี้นายใหญ่กลุ่มทรู “ศุภชัย เจียรวนนท์”ก้าวขึ้นไปเป็นซีอีโอร่วมของกลุ่มซีพี
ล่าสุดกลุ่มทรูกางแผนวางตู้เติมงาน 4 หมื่นตู้ทั่วประเทศรวมไปถึงสาขา 7-11 ด้วยสร้างความสั่นสะเทือนให้กับธุรกิจตู้เติมเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวข้อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยแหล่งข่าวจากวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ได้จัดงานสัมมนาพันธมิตรคู่ค้า “Together Strongerชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เกิดจากใจที่ร่วมกัน” โดยจัดขึ้นเพื่อขอบคุณและเพิ่มความเชื่อมั่นในการเป็นพันธมิตรคู่ค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ร่วมแบ่งปันสิ่งดีๆให้แก่กัน พร้อมประกาศนโยบายและกลยุทธ์การตลาดในการดำเนินธุรกิจของปี 2560 เพื่อความสำเร็จในธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นที่ 1 ไปด้วยกันทั้งสินค้าและบริการ อย่างเต็มรูปแบบ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว และได้จัดงานสัมมนาพันธมิตรคู่ค้าพร้อมกัน 10 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลกขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรีอยุธยา นครปฐม สงขลา และอุบลราชธานี เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จและเติบโตอย่างมั่นคงไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตามการจัดงานสัมมนาครั้งนั้น กลุ่มทรู ได้เปิดตัว “ตู้เติม TRUE” ซึ่งเป็นตู้เติมเงินมือถือและแพ็กเกจเสริม ทรูมูฟ เอช รวมไปถึงเติมเกม แต่ตู้เติมเงินเติมได้เฉพาะระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทรูมูฟ เอชเท่านั้น
นอกจากนี้แล้ว ทรู มีเป้าหมายติดตั้งตู้ทั้งหมด 4 หมื่นตู้ทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงร้านสะดวกซื้อ 7-11 ส่วนก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า เอไอเอสหรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จะทำตู้เติมเงินเองนั้นคาดว่าน่าจะรอดูการทำตลาดของกลุ่มทรู ก่อน
มองทรูฯแก้เกี้ยวเรียกเชื่อมั่น
แหล่งข่าวจากวงการตู้เติมเงินรายหนึ่งกล่าวว่า การเข้ามาในธุรกิจตู้เติมเงินของทรู ไม่ได้เป็นการสกัดกั้นผู้ให้บริการตู้เติมเงินรายอื่น แต่เป็นการทำตู้เติมเงินขึ้นมาเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้าที่ไม่มั่นใจในบริการทรูมูฟเอช มากกว่า อย่างไรก็ตามหากดูจากสถานการณ์การเติมเงินผ่านตู้เติมเงินฐานลูกค้าของเอไอเอส และดีแทคมีปริมาณมากกว่าการเติมเงินค่ายทรูมูฟเอช
ขณะเดียวกันการบริหารตู้เติมเงินไม่ใช่เรื่องง่าย โดยต้องมีการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการให้บริการเติมเงิน มีค่าบริหารจัดการ ค่าเชื่อมต่อซิมการ์ด ซึ่งแต่ละตู้ต้องมีรายได้มากกว่า 1 หมื่นบาท ถึงอยู่รอดได้
“เท่าที่ทราบตอนนี้ทรูมีการสั่งผลิตตู้เติมเงินไปล็อตแรก1 หมื่นตู้ และเริ่มทดลองนำตู้เติมเงินไปทดสอบที่เซเว่นฯ 7แห่ง ซึ่งบางตู้ก็ยังไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากซอฟต์แวร์ยังไม่เสถียร ซึ่งปัจจุบันลูกค้าทรูมูฟเอช สามารถเติมเงินผ่านเซเว่นฯได้เริ่มต้นตั้งแต่ 20 บาท โดยยังมองไม่ออกว่าทรูมูฟเอช จะมาตั้งตู้เติมเงินเพื่ออะไร เนื่องจากการบริหารจัดการตู้เติมเงินไม่ใช่เรื่องง่ายและมีค่าใช้จ่าย โดยเท่าที่ทราบทรูมูฟเอชก็ไม่ได้บริหารจัดการเอง แต่จ้างเอาต์ซอร์ซเข้ามาดูแล
ส่วนกรณีข้อถามที่ว่า กลุ่มทรู จะขยายการให้บริการชำระเงินรูปแบบอื่น นอกเหนือการเติมเงินมือถือด้วยหรือไม่ ในทางเทคนิค สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์เพิ่มเติมเพื่อให้บริการอย่างอื่นได้ อาทิ ให้บริการเติมเงินอาลีเพย์กับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มซีพี มีการร่วมมือกับแอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ของกลุ่มอาลีบาบา
ขาใหญ่ตู้เติมเงินลั่นไม่กระทบ
ด้านนายธนัญชัย สมุหวิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ผู้ให้บริการธุรกรรมออนไลน์ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายตู้เติมเงิน “กะปุก” หรือ “กะปุกท็อปอัพ (KapookTopup) กล่าวว่า คงไม่มีผลกระทบ เพราะเติมได้เฉพาะเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ทรูมูฟ เอช เท่านั้น
สำหรับตู้เติมเงินของ กะปุก มีจำนวนทั้งสิ้น 1 หมื่นตู้ ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง เอไอเอส-ดีแทค และ ทรูมูฟเอช สำหรับสัดส่วนการเติมเงินนั้นอันดับ 1 คือ เอไอเอส ประมาณ25%, ดีแทค 25% และ ทรูมูฟเอช จำนวน 15% นอกจากเติมเงินมือถือแล้วยังเติมบัตรเกม,บัตรเงินสด และจ่ายบิลค่าโทรศัพท์รายเดือน เป็นต้น
ขณะที่นายสมชัย สูงสว่างกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ทสมาร์ท เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือ FSMART ผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) และบริการชำระเงินออนไลน์ผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติภายใต้เครื่องหมายการค้า “บุญเติม”กล่าวว่า มองว่าการเข้ามาตั้งตู้เติมเงินของทรูทั่วประเทศ รวมถึง 7-11 ไม่กระทบกับตู้บุญเติมโดยในปีที่ผ่านมาตู้บุญเติม ติดตั้งเพิ่ม 2.5 หมื่นตู้ ทำให้ขณะนี้มีตู้บุญเติม ทั่วประเทศ 9.1-9.2 หมื่นตู้
ส่วนในปีนี้วางแผนเพิ่มตู้บุญเติมเป็นมากกว่า 1 แสนตู้และมีแผนขยายการให้บริการชำระเงินเพิ่ม โดยเตรียมเปิดให้บริการจ่ายบิลรายเดือนดีแทคจ่ายค่าปรับจราจร และการจ่ายค่าประกันภัย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560