แฉ! อดีตที่ปรึกษานายกฯ รับสินบนสุราข้ามชาติ

27 ม.ค. 2560 | 11:11 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2560 | 18:11 น.
ปัญหาการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองของไทย ไม่ได้มีเฉพาะบริษัทโรลส์-รอยซ์เท่านั้น ล่าสุดสปริงนิวส์ได้ตรวจสอบพบว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ได้ดำเนินคดีกับบริษัทที่จ่ายสินบนให้กับข้าราชการและนักการเมืองไทยอีกอย่างน้อย 2 บริษัท พร้อมกับระบุชัดเจนว่าบริษัทสุราระดับโลกจ่ายสินบนให้ที่ปรึกษารองนายกฯ รวมไปถึงการจ่ายสินบนในการติดตั้ง CCTV ในรัฐสภา และท่าอากาศสุวรรณภูมิ

เว็บไซด์กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เผยแพร่การดำเนินคดีกับบริษัท ดิอาจีโอ บีแอลซี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสุรารายใหญ่ของอังกฤษ แต่มีการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ค โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐพบว่า บริษัท ดิอาจิโอ ได้ละเมิดกฎหมายเอฟพีซีเอ ของสหรัฐ ด้วยการติดสินบนหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย

การติดสินบนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นในระหว่างปี 2547 ถึงกลางปี 2552 ผ่านตัวแทนจำหน่ายสุราในประเทศไทย ซึ่งในรายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐบอกว่า ดิอาจิโอ ได้จ่ายสินบนเดือนละ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากคำนวณที่ค่าเงินบาทในขณะนั้นที่ประมาณ 40 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะคิดเป็นเงิน 480,000 บาทให้กับเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองหนึ่ง และเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24 ล้านบาท โดยเป็นการจ่ายตรง 49 ครั้งให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยคนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการอยู่

โดยเงินสินบนดังกล่าวนั้นแลกกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยผู้นั้น จะทำหน้าที่ล็อบบี้เจ้าหน้าที่ไทยในคดีความด้านภาษี และศุลกากรมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับดิอาจีโอ
รายงานยังระบุชัดด้วยว่า ในช่วงเวลาดังกล่วนั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยคนนี้ เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาให้กับรองนายกรัฐมนตรี และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในสมัยนั้นอีกด้วย

นอกจากนี้ในเว็บไซด์กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ยังเผยแพร่ กรณีการปรับ และลงโทษบริษัท ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทผู้ขายระบบรักษาความปลอดภัยอิเลคโทรนิค เป็นมูลค่ากว่า 26.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,072 ล้านบาท จากข้อหาละเมิดกฎหมายเอฟซีพีเอ ว่าด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นในต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีการติดสินบนในประเทศไทยด้วย

โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น รายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐระบุว่า เกิดขึ้นในระหว่างปี 2547-2548 โดยเป็นการติดสินบนผ่านลูกในประเทศไทยที่ ไทโค ถือหุ้นอยู่ 49% โดยระบุว่าได้จ่ายเงินให้กับที่ปรึกษารายหนึ่ง มูลค่า 292,286 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงิยไทยเกือบ 12 ล้านบาทในโครงการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจากการจ่ายเงินสินบนซึ่งคิดเป็นค่าที่ปรึกษาในครั้งนั้นได้ทำให้บริษัท ลูกในประเทศไทยได้กำไรจากโครงการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เป็นเงิน 879,258 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 35 ล้านบาท

และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น บริษัทลูกของไทโคในไทย ยังจายเงินจำนวนหนึ่งให้กับที่ปรึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาการติดตั้ง กล้องวิดิโอวงจรปิด ซีซีทีวี ในรัฐสภาไทยด้วย

การจ่ายสินบนไทโค
โดยบริษัทลูกของไทโคในไทย และ ที่ปรึกษาคนดังกล่าวได้ระบุในอินวอยซ์ การจ่ายสินบนว่า เป็นค่า “รีโนเวท” หรือค่าปรับปรุง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่มีการปรับปรุงล้องวิดิโอวงจรปิด ซีซีทีวี ในรัฐสภาไทยแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ในระยะเวลาเดียวกัน บริษัทลูกของไทโคในไทย ยังจ่ายสินบนอีก 3 ครั้ง ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดีไซน์ และสำรวจ เมืองพัทยา ซึ่งเป็นการจ่ายโดยไม่พบหลักฐานว่ามีการสำรวจจริง
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐบอกว่า จากการจ่ายสินบนเหล่านี้ ทำให้เอดีที ประเทศไทย ได้รับกำไรจากโครงการต่างๆเป็นมูลค่าราว 473,262 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 19 ล้านบาท