กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีแผนติดตั้งตู้เติมเงินภายใต้ชื่อ “ตู้เติม ทรู” หลังจากจัดงานสัมมนาพันธมิตรคู่ค้า "Together Stronger ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เกิดจากใจที่ร่วมกัน"
หากแต่การจัดสัมมนาครั้งนั้น “ทรู” ได้นำตู้เติมเงินมาโชว์ให้กับเหล่าบรรดาพันธมิตรพร้อมทั้งเปิดให้จอง ซึ่งปรากฏว่ามีคู่ค้าจองไปแล้วจำนวน1,000 ตู้ และนำร่องติดตั้งร้านกาแฟมวลชนไปบ้างแล้วพร้อมกับวางเป้าติดตั้งตู้ให้ได้ จำนวน 4 หมื่นตู้
แต่ทว่าหลัง “ทรู” ประกาศติดตั้งตู้เติมเงินราคาหุ้นของ บริษัท ฟอร์ทสมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ผู้ให้บริการตู้เติมเงินภายใต้ชื่อ “บุญเติม” ราคาร่วงจากระดับ 22บาทมาอยู่ที่เกือบหลุด 18.00 บาท สะท้อนให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมกันเลยทีเดียว
ย้อนรอย
ปรากฏการณ์การสกัดคู่แข่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในเครือบริษัท ซีพี ออล์ จำกัด (มหาชน) ได้ยกเลิกการจัดจำหน่ายสลิปและบัตรเติมเงิน วัน-ทู-คอล ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอสมีผู้ใช้ระบบเติมเงินถึง 33.5 ล้านเลขหมาย
สาเหตุที่ยกเลิกเนื่องมาจากขอปรับขึ้นค่าผลตอบแทนในการขายจาก 5% เป็น 7% จนในที่สุด เอไอเอส ไม่ยอม แม้ 7-11 ยกเลิกการขายครั้งนั้น ทางฝั่ง เอไอเอสออกมาชี้แจงว่ามีตู้เติมเงินถึง 5 แสนแห่ง (ดูตารางประกอบ)
แม้นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่ 7-11 ยกเลิกการจำหน่ายสลิปและบัตรเติมเงินวัน-ทู-คอลของเอไอเอส นั้นไม่ได้อยู่ในขอบเขตการดูแลของกลุ่มทรู ซึ่งบริษัทไม่ทราบถึงการเจรจาระหว่าง 7-11 กับคู่ค้าแต่อย่างใด
หากแต่สิ่งที่ “ศุภชัย” ออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นว่ากลุ่มทรู ไม่เกี่ยวข้อง แต่หลายคนก็ไม่มีใครเชื่อเพราะ ซีพีออลล์ และ กลุ่มทรู มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ซีพี (เจริญโภคภัณฑ์)
นอกจากนี้แล้ว เมื่อ 7-11 เลิกขายสลิปและบัตรเติมเงินทำให้ “ตู้เติมเงินบุญเติม” มียอดเติมเงินเพิ่มขึ้น 20% โดยสิ้นปี 2560 บริษัท ฟอร์ทสมาร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMARTประมาณการว่ามียอดเติมเงินถึง 2 หมื่นล้านบาทผลพวงมาจากยอดเติมเงินของ เอไอเอส ที่เพิ่มมากขึ้น
ถึงคิว “บุญเติม”
อย่างไรก็ตามหลังจาก 7-11 เลิกขายสลิปและบัตรเติมเงินวัน-ทู-คอล ไปแล้ว ปรากฏว่ากลุ่มทรู มีนโยบายที่จะติดตั้ง “ตู้เติมเงินทรู” แต่มีข้อจำกัด คือ เติมได้เฉพาะผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินของ “ทรูมูฟเอช” เท่านั้น และได้นำร่องติดตั้งไปแล้วร้านกาแฟมวลชน และ 7-11 บางสาขา
แม้นายสมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์สมาร์ท จำกัด (มหาชน) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีผลกระทบ เพราะปัจจุบัน ตู้บุญเติม มีจำนวนตู้ทั้งสิ้น 9หมื่นตู้ทั่วประเทศ แบ่งเป็นติดตั้งหน้าร้าน7-11 จำนวน 8,000 ตู้ รูปแบบสัญญา คือ ปีต่อปี
“ทรู มองบริษัทฯเป็นพันธมิตรที่แข็งแรง เพราะ แต่ละปีบริษัทฯได้เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วน ทรู ที่ทำตู้เติมเงินได้มีโอกาสพูดคุยกัน”
เหตุผลที่ ทรู ต้องเบนเข็มให้บริการตู้เติมเงินนั้น สมชัย บอกว่า เป็นเพราะหลัง ทรู ได้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ได้หว่านเม็ดเงินโฆษณาไปที่ ณเดชน์คูกิมิยะ เพื่อสื่อสารเรื่องเทคโนโลยี LTE (LongTerm Evolution เทคโนโลยีการส่งข้อมูลที่ให้ความเร็วเหนือกว่า 3จีในปัจจุบันถึง 10 เท่า) แต่ปรากฏว่ามีการสื่อสารที่คาดเคลื่อน ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น ทรู จึงเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่ายระบบเติมเงินเพื่อให้บริการคบวงจร จึงเกิดโปรเจ็กต์ ตู้เติมเงินขึ้น
“ทรู จะไปติดตั้งตู้ในเครือข่ายที่ ตู้บุญเติม ไม่มี ส่วนผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ คือบริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ส่วนด้านโอเปอเรชันนั้นใช้ เอาต์ซอร์ส จากบริษัทภายนอก ส่วนระบบการจัดเก็บเงินยังไม่ทราบจัดเก็บอย่างไร” นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตู้บุญเติม ตั้งเป้าหมายติดตั้งภายใน 3 ปีมีทั้งหมด 1.7 แสนตู้ แบ่งเป็น ปี 2560 จำนวน 1.2 แสนตู้ มูลค่าเติมเงิน 3 หมื่นล้านบาท,ปี 2561 จำนวน 1.45 แสนตู้มูลค่าเติมเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท และ ปี 2560 อยู่ที่ 1.7แสนตู้ โดยรูปแบบธุรกิจ คือ ตู้เติมเงิน,แอพพลิเคชั่น Be Wallet, ตู้ขายน้ำกระป๋อง และ ยังเตรียมเปิดให้จองตั๋วคอนเสิร์ต และเครื่องชาร์จแบตมือถือ
ต้องจับตาดูว่า “ตู้บุญเติม” ที่ติดตั้งอยู่หน้าร้าน 7-11 จำนวน 8,000 ตู้นั้นจะอยู่ต่อหรือไม่ เพราะขนาด วัน-ทู-คอล ที่มีลูกค้าเติมเงินมากสุดใน 7-11 ยังเลิกขายได้เลย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560