รื้อเพดานภาษีเหล้าคิดตามดีกรี+มูลค่า สูงสุด 150%

26 ก.พ. 2560 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2560 | 10:05 น.
สรรพสามิตรื้อโครงสร้างจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ ตามมูลค่าบวกปริมาณต่อดีกรี ขยับเพดานสุราขึ้น 150% สูงสุด 447 บาทต่อขวด ไวน์1,482 บาท ขณะที่เบียร์ เริ่มต้น 78 บาทสูงสุด 178 บาท

ภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ปรับวิธีการจัดเก็บจากราคาขายส่งหน้าโรงงานมาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน หลังประกาศในราชกิจนุเบกษา ส่งผลให้กรมสรรพสามิตต้องเร่งดำเนินการทำกฎหมายลูกประกอบประมาณ 80 ฉบับ โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดพิกัดอัตราภาษีใหม่ในสินค้าหลักๆ ได้แก่ น้ำมัน ยาสูบ รถยนต์เครื่องดื่ม ทั้งแบบที่ไม่มีแอลกอฮอล์และมีแอลกอฮอล์ คือ เบียร์ ไวน์ และ สุรากลั่น

กรมสรรพสามิตระบุว่า หลักการปรับโครงสร้างภาษีสุรา เบียร์ และไวน์ ภายใต้พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ประกอบ ด้วย 1.โครงสร้างภาษีใหม่จะเปลี่ยนฐานภาษีจาก ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย เป็น ราคาขายปลีกแนะนำ ส่งผลให้ฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีตามมูลค่ามีราคาสูงขึ้น ดังนั้นเพดานอัตราภาษีตามมูลค่าจึงลดลง และอัตราภาษีที่จะใช้ในการจัดเก็บ มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วยเพื่อให้ผู้ประกอบการไม่มีภาระภาษีมากไปกว่าเดิม

นอกจากนี้โครงสร้างภาษีสุรา เบียร์ และไวน์ ภายใต้พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับปัจจุบัน มีราคาขายช่วงสุดท้ายเป็นฐานภาษี ภาระภาษีตามมูลค่าจึงเปลี่ยนแปลงไปตามราคาขายที่ผู้ประกอบการแจ้ง ดังนั้นหากมีการแจ้งราคาขายไว้ต่ำ จะส่งให้ภาระภาษีตามมูลค่าและภาระภาษีโดยรวมต่ำไปด้วย

ในขณะที่ภายใต้โครงสร้างภาษีใหม่ มีการเปลี่ยนฐานการคำนวณจากราคาขายส่งเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งเป็นราคาที่พบเห็นและตรวจสอบได้ในท้องตลาดโดยทั่วไป ส่งผลให้ระบบการจัดเก็บภาษีมีความโปร่งใสมากขึ้น และเป็นธรรมยิ่งขึ้น
 รื้อสูตรคิดแค่มูลค่า+ปริมาณ

2.วิธีการคำนวณภาษีสุรา เบียร์ และไวน์ใหม่ จะคงเป็นระบบแบบผสมแต่เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากวิธีปัจจุบัน คือ อัตราใหม่เท่ากับอัตราตามมูลค่าบวกด้วยอัตราตามปริมาณ(ดีกรีแอลกอฮอล์) แต่ไม่เก็บภาษีตามปริมาตร และขนาดของดีกรีที่เกินกว่ากำหนด

3.โครงสร้างภาษีสุรา เบียร์ และไวน์ ภายใต้พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับปัจจุบัน จะมีสัดส่วนภาระภาษีตามมูลค่าสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับภาระภาษีตามปริมาณ ขณะที่การกำหนดอัตราภาษีภายใต้พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะมุ่งเน้นหลักสุขภาพมากขึ้น เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสุราที่มีราคาถูกและแรงแอลกอฮอล์ในระดับสูงจะต้องมีภาระภาษีที่สูงขึ้น

 ขยับภาษี“สุรา”เพิ่ม 150%

4. เมื่อพิจารณาสุราทั้ง 3 ประเภท แรงแอลกอฮอล์หรือปริมาณแอลกอฮอล์ในสุราโดยทั่วไปแล้ว พบว่า สุรากลั่นมีดีกรีระหว่าง 28-45 ดีกรี เบียร์ 3-7 ดีกรี และไวน์ 13-17 ดีกรี ดังนั้นในการกำหนดอัตราภาษีใหม่เพื่อมุ่งเน้นหลักสุขภาพ เบียร์ และ ไวน์ ที่มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าสุรากลั่น จึงมีเพดานอัตราภาษีตามปริมาณที่สูงขึ้นเพื่อให้ภาระภาษีสะท้อนแรงแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น

“โครงสร้างภาษีใหม่ เบียร์และไวน์ จะมีการปรับอัตราภาษีตามปริมาณจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 300 และ 2,000 บาทเป็น 3,000 บาท เพิ่มขึ้น 0.5 เท่า และปรับอัตราตามมูลค่าลดลงจาก 60% และ 50% เหลือ 30% ส่วนเพดานอัตราภาษีตามปริมาณของสุรา ปรับเพิ่มจาก 400 บาท เป็น 1,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า หรือ 150% ส่วนอัตราตามมูลค่า 30% ลดลงจาก 50%”แหล่งข่าวกรมสรรพสามิต กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

ขณะที่กฎหมายหมายปัจจุบัน อัตราภาษีของเบียร์ตามมูลค่า เพดานสูงสุดที่ 60% แต่จัดเก็บจริง 48% ไวน์ เพดานอยู่ที่ 60% จัดเก็บจริงตั้งแต่ 0-36% และสุรากลั่น เพดานอยู่ที่ 50% จัดเก็บจริง 4-25%

 “เบียร์-ไวน์- เหล้า”พุ่ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากโครงสร้างภาษี สุรา เบียร์ และไวน์ใหม่ ทำให้เพดานอัตราของภาษีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะขยับขึ้น เนื่องจากฐานที่นำมาใช้ในการคำนวณภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากเปลี่ยนวิธีจากราคาขายส่งช่วงสุดท้าย มาเป็น ราคาขายปลีกแนะนำ ส่วนอัตราการจัดเก็บจริงนั้น จะยึดหลักการว่า ภาษีใหม่จะไม่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าจะประกาศอัตราได้ 1 สัปดาห์ก่อนภาษีจะมีผลบังคับใช้

โครงสร้างใหม่ ทำให้เพดานภาษีเบียร์ขยับขึ้น เช่น เบียร์ 3.5 ดีกรี ขนาด 0.62 ลิตร ขยับจากขวดละ 41.60 บาท เป็น 78.50 บาทโดยประมาณ เบียร์ 5 ดีกรี ขนาด 0.62 ลิตร ขยับจากขวดละ 42.10 บาท เป็น 108 บาท เบียร์ 5.8 ดีกรี ขนาด0.62 ลิตร ขยับจากขวดละ 40.70 บาท เป็น 123 บาท เบียร์ 6 ดีกรี ขนาด 0.50 ลิตร ขยับจากขวดละ 40.20 บาท เป็น 132 บาท และเบียร์ 7 ดีกรี ขยับจากขวดละ 46.50 บาท เป็น 178 บาท

ไวน์มีขนาดเดียวคือ 0.75 ลิตร ระดับดีกรีตั้งแต่ 12.5-14.5 ดีกรี อัตราเพดานต่ำสุดในปัจจุบันขวดละ 225 บาท จะขยับขึ้นเป็นขวดละ 519 บาท และสูงสุดอยู่ที่ขวดละ 1,482 บาท โดยเป็นอัตราเพดานที่ลดลงจาก 2,100 บาท เนื่องจากแจ้งราคาขายส่ง 3,500 บาท

ด้านสุราทุกประเภท เริ่มจากสุราขาวชุมชน ขนาด 0.625 ลิตร ดีกรีเริ่มต้นที่ 28 ดีกรี อัตราเพดานปัจจุบันอยู่ที่ขวดละ 98 บาท ปรับเพิ่มเป็นขวดละ 199 บาท ขนาด 35 ดีกรี ปรับเพิ่มจาก 121 บาท เป็น 244 บาท ส่วนสุราขาว 40 ดีกรี แจ้งราคาขายส่ง 75 บาท จากขวดละ 137.50 บาท เป็น 277 บาท

สุดท้ายสุรากลั่นอื่นๆ ขนาด 0.70 ลิตร เริ่มจาก 35 ดีกรี แจ้งราคาขายส่ง 125 บาท เพดานขยับเพิ่มจากขวดละ 160 บาท เป็น 312 บาท 35 ดีกรี แจ้งราคาขายส่ง 128 บาท ขยับจากขวดละ 162 บาท เป็น 320 บาท ส่วน 40 ดีกรี 3 ชนิด ขยับจากขวดละ 216-366 บาท เป็น 357-447 บาท

สรรพามิตยันไม่ขึ้นภาษี

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพาสามิต กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งในท้ายร่างกฎหมายฯเมื่อครั้งที่กรมสรรพสามิตเสนอว่า ภาษีใหม่จะต้องไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ และไม่กระทบต่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

“หัวใจของภาษีสรรพสามิตรใหม่คือ เพื่อความเป็นธรรม โปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน ผู้ประกอบการจะขึ้นราคาสินค้าด้วยเหตุผลว่าภาษีเพิ่มขึ้นไม่ได้”

อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า กรมสรรพสามิตจะมีฐานข้อมูลของราคาขายปลีกแนะนำของสินค้ากว่า 1,000 สินค้า ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกแนะนำที่ผู้ประกอบการแจ้งเข้ามา โดยหากมีราคาที่ใกล้เคียงกันก็ไม่มีปัญหา กรมสรรพสามิตสามารถประกาศได้เลย

“หากราคากรมสรรพสามิตมีอยู่แตกต่างจากที่ผู้ประกอบการแจ้งเข้ามา ก็ต้องมาคุยกันหาข้อสรุป ถ้าคุยกันได้ก็จบ แต่หากไม่ลงตัวมีข้อโต้แย้ง กรมสรรพสามิตสามารถประกาศเองได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” นายสมชาย กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560