‘RR-แอร์บัส’ร่วมวง บินไทยปั้นฮับศูนย์ซ่อม

05 มี.ค. 2560 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2560 | 13:17 น.
เปิดยุทธศาสตร์การบินไทยในสนามบินอู่ตะเภา ดันเป็นฮับศูนย์ซ่อม-ครัวโลก พร้อมดึงไทยสมายล์-นกแอร์โกยรายได้ธุรกิจการบินหรูยันโลว์เผยร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯ คืบหน้า เคาะสัดส่วนต่างชาติ 30% บินไทย 60% ส่วน ทร. 10% ไม่ปิดกั้นแอร์บัสกับโรลส์-รอยซ์ เหตุเป็นมืออาชีพ

แผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานระยะเวลา 15 ปี (2560-2575) เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในอาเซียนและมหานครการบิน (Aeropolis) โดยเฉพาะหุ้นส่วนที่เข้ามาร่วมพัฒนาศูนย์ซ่อมกับบริษัทการบินไทย กำลังชัดเจน เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ การบินไทย เปิดเผยยุทธศาสตร์ในการสร้างรายได้ในสนามบินแห่งที่ 3 อู่ตะเภา ประกอบด้วย 1.ศูนย์ซ่อมอากาศยาน จะมีการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งภูมิภาค เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน

“เป็นความร่วมมือกันระหว่างการบินไทยในสัดส่วน 60% กองทัพเรือ 10% ที่เหลืออีก 30% เป็นพันธมิตรต่างชาติเข้ามาร่วมทุน โดยคัดเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ และมีประโยชน์สูงสุดกับองค์กร แต่ยังไม่สรุปว่าเป็นรายใด เพราะต้องพิจารณาให้รอบคอบ”

การร่วมทุนกับต่างชาติเป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่เพียงอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง ยังเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ที่สำคัญต้องใช้งบลงทุนสูง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 รายได้จากสายการบิน แบ่งเป็น การบินไทยบินระหว่างประเทศเป็นหลัก ส่วนไทยสมายล์บินในประเทศ และนกแอร์แข่งในสนามโลว์คอสต์ และ 3.ยุทธศาสตร์การเป็นฮับครัวโลก หรือศูนย์กลางอาหารในภูมิภาค ซึ่งการบินไทยมีศักยภาพและความพร้อม

 ไม่ปิดกั้นโรลส์-รอยซ์

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้การบินไทยมีปมสินบนฉาว พัวพันการทุจริตการจัดซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ในเชิงธุรกิจ ต้องยอมรับว่าอาจจะมีความร่วมมือครั้งใหม่ที่โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมทั้งบริษัทแอร์บัส หรืออาจจะเลือกทั้ง 2 ราย เพื่อรับผิดชอบในส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ ขณะที่โบอิ้ง ตอบกลับมาว่าไม่สนใจ

[caption id="attachment_133440" align="aligncenter" width="335"] อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ การบินไทย อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ การบินไทย[/caption]

โรลส์-รอยซ์ บริษัทสัญชาติอังกฤษ ทำธุรกิจอากาศยานพาณิชย์ระดับโลก มีศูนย์ซ่อม มีฐานการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ยิ่งปีที่ผ่านมา ผู้บริหารโรลส์-รอยซ์ ได้เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสานสัมพันธ์และเป็นพันธมิตรกับไทยให้ต่อเนื่อง แสดงสนใจที่จะร่วมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานกับการบินไทย

ขณะนี้การบินไทยกับบริษัทแอร์บัสฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือและร่วมลงทุนในโครงการ ตามแผนลงทุนจะใช้งบราว 1 หมื่นล้านบาท ในการสร้างโรงซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ 1 อาคาร ที่จะเป็นสมาร์ทแฮงก้า รองรับเครื่องบินแอร์บัสเอ380 จำนวน 2 ลำ หรือเครื่องบินโบอิ้ง 787 โบอิ้ง 777 หรือแอร์บัสเอ 320 โบอิ้ง 737 4-5 ลำ ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องบิน

“แอร์บัสแสดงความสนใจ จึงทำให้เกิดความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือและร่วมลงทุนที่จะเกิดขึ้น หรือแม้แต่โรลส์-รอยซ์ก็มีการหารือร่วมกัน” แหล่งข่าวคมนาคมยอมรับ

 ฮับศูนย์ซ่อม2หมื่นล้าน

หลังผ่านมติ ครม. แผนดังกล่าว แบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.การซ่อมบำรุงอากาศยานหรือ (MRO) 2.การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน(OEM) และ 3. การพัฒนาบุคลากรด้านการบิน (HR) ตามแผนระยะแรกปี 2560-2564 รัฐบาลจะผลักดันให้จัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา โดยให้การบินไทย ไปศึกษาหาผู้ร่วมทุนโดยเปิดทางให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% จากที่กำหนดให้อุตสาหกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน กำหนดไว้ว่าต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49%

ความชัดเจนในการลงทุนจะเกิดขึ้นได้หลังจากเดือนสิงหาคมนี้ และอู่ตะเภาได้กันพื้นที่500 ไร่สำหรับลงทุนศูนย์ซ่อมและต้องกันพื้นที่สำหรับลงทุนด้านสาธารณูปโภคด้วย ดังนั้นกว่าจะลงทุนศูนย์ซ่อม ก็คงจะเป็นปี 2561

พล.ร.ต.วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เผยว่าสนามบินอู่ตะเภาได้กันพื้นที่ภายในสนามบินไว้ราว 2 พันไร่ เพื่อรองรับการลงทุนของเอกชนที่จะเกิดขึ้นใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1. ศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO 2. ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ และ 3. เทรนนิ่งเซ็นเตอร์หรือศูนย์ฝึกอบรมด้านการบิน รวมมูลค่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ราว 2 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโครงการEEC ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุน

“ส่วนพื้นที่ของศูนย์ซ่อมMRO จะอยู่ที่ราว 500 ไร่ ใหญ่กว่าสิงคโปร์ ที่มีพื้นที่ทำศูนย์ซ่อม อยู่ที่ 300 กว่าไร่โดยจากผลการศึกษาในเรื่องนี้ของ สนข.พบว่าสามารถสร้างโรงซ่อมเครื่องบินได้มากถึง 5-6 อาคาร สามารถรองรับการลงทุนได้หลายรายไม่ใช่การบินไทยเพียงรายเดียว สิงคโปร์ ยุโรป ตะวันออกกลางก็แสดงความสนใจ”

 แอร์บัสบุกไทยโชว์วิชัน

สอดคล้องกับ สถานเอกอัครราชฑูตไทย ประจำ กรุงปารีส ฝรั่งเศส นำคณะผู้บริหารของแอร์บัสเดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคมที่กระทรวงการต่างประเทศ มีนายฟาบริซ เบรจิเยร์ ประธานแอร์บัส คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟต์ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของแอร์บัส ขึ้นเวทีกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Airbus Vision for Aviation in the Region and Thailand's Role” เจาะลึกมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของโลกธุรกิจการบิน ศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาค

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,241 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2560