ประดิษฐ์ปัญญา ฉากที่ 16

05 เม.ย. 2567 | 23:30 น.

ประดิษฐ์ปัญญา ฉากที่ 16 คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3981

การพูดให้คนเสียรังวัดต้องยกกรณี ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ท่านเล่ามุก สามแยกปากหมา สมัยที่ท่านเป็นนักศึกษา ก๊วนท่านจะไปนั่งรอแซวนักศึกษาระดับมิส มีอยู่วันหนึ่ง นักศึกษาแสนสวยเดินผ่านสามแยกปากหมา คนในก๊วน ก็ทำท่าขมุบขมิบปากเปล่งเสียงจิ๊บๆ เป็นซาวด์แทร็คประกอบจังหวะการเดินของเธอ นักศึกษาเดินหาวมาสามครั้งเพราะเป็น อิสตรีสามหาว! เธอหยุดกึ๊กอยู่กับที่หันหน้ามาสบตากับ ม.ร.ว.ถนัดศรี แล้วก็ถามหวังให้จำข้ามภพชาติว่า “พ่อมึงเป็นนกเหรอ!” (ฮา)

อารมณ์คนในวันนี้ มักจะมีกริยา “สภาพบุรุษหลังแต่งงาน” และ “สภาพสตรีหลังงานแต่ง” พอกันทั้งคู่ คือ “ส.เสือ ไม่มี สระอุ” ความสุภาพเลือนหายไป แบบว่า…แบบว่า “อยู่ห่างๆ ไหว้ อยู่ใกล้ๆ ถีบ” หมายถึง ช่วงจีบจะผลัดกันยกย่อง หลังจาก “งานสยองสมรส” ลุล่วง การบูลลี่เริ่มออกรวงดูแคลนกันทีละดอกสองดอก

ภรรยามักจะรำพึงว่า “ผัวหนูปากหมานินทาหนูตะพึด ไม่รู้จะทำไงดี” มร.จิตอาสา ผู้หนึ่งแนะเธอแซ่บๆ ว่า “ไอ้โง่เอ๊ย แกก็ไปซื้อ ท่านหมาผู้มีการศึกษา มาจูงสักตัวหนึ่งดิ๊ เมื่อไหร่มันปากหมาค่อนขอดแก แกก็ปรึกษา ท่านหมาผู้มีการศึกษา ถามท่านเอ๋งๆ ดูว่าจะตอบโต้มันแบบไหนดี (ฮา)

ชุดความคิดด้านการศึกษามีพัฒนาการดีกว่าเดิมก็จริง แต่ตราบใดที่ ทัศนคติ และ พหูสูต ยังไม่เฉียบแหลม แถมคนยังคงมองข้ามคนหันไปคลั่งตำราเพราะลืมไปว่า เรื่องราวในตำราเกิดมาจากสติปัญญาของคนยุคโบราณ “ความรู้พื้นฐานของแต่ละวิชา” คือ “เสาเข็ม” ยอมรับว่ารูปทรงการก่อสร้างสมัยใหม่ มันสุดที่จะ “บรรพชนมหาบรรพชน” หมายถึง “โคตรจะปั๊วะ” (ฮา)

ถึงกระนั้นก็น่าจะให้เกียรติ “ปัญญาของการบุกเบิกเสาเข็ม” ถ้ายังดูหมิ่นว่าเสาเข็มมันสุดจะกระจอก อาคารยุคใหม่ก็อย่าลงเสาเข็ม ช่างทำโลงศพ กับ สัปเหร่อ จะได้รวยไว

นักอ่านพูดมานานแล้วว่า “คนหนึ่งคนเหมือนหนังสือหลายเล่ม หนังสือหนึ่งเล่มเหมือนกับคนหลายคน!” แสดงว่า “ความรู้แต่ละเล่มเอาปัญญามาจากคนหลายคน นักเขียนทุกคนเอาข้อมูลมาจากหนังสือหลายเล่ม!” ความน่าจะเป็นที่ควรสนใจ คือ “เนื้อหาที่ไปเอามาเขียนก็ย่อมจะมีภูมิปัญญาของคนรุ่นโคตรจะปั๊วะอยู่ด้วย!”

ผมจะเล่าเรื่องที่ผมไม่เคยรู้ เพราะผมไม่เคยเป็นกำนัน ซึ่งนักเรียนก็ไม่เคยรู้เพราะเรื่องที่เล่าไม่มีอยู่ในตำรา เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยสมัยก่อนนู้น เสนอแนะการประเมินพฤติกรรมของท่านกำนัน ด้วยการจัดกิจกรรมชกมวยนอกรอบให้ชาวบ้านดู กำนันแต่ละท่านเดินทางจากต่างตำบลมาจับสลากว่าใครจะชกกับใคร 

ครั้นเมื่อได้เวลานัดหมายกำนัน ก็ขึ้นมาชกกันบนเวที ชาวบ้านแต่ละตำบลเขาแห่กันมาดู ไฮไลท์มันสนุกตรงที่ ถ้ากำนันท่านใดเป็นที่รักของชาวบ้าน บรรดาแฟนคลับของกำนันเขาจะส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ ถ้ากำนันท่านใดไม่เป็นที่รักของชาวบ้าน

                        ประดิษฐ์ปัญญา ฉากที่ 16

เมื่อกำนันโดนคู่ต่อสู้ชกบ้างเตะบ้าง เหล่าลูกบ้านของกำนัน เขาพร้อมใจกันโห่ส่งเสียงตะโกนดังลั่นสนั่นขอบเวทีว่า “เอามันให้ตาย! เอามันให้ตาย!” (ฮา)

สำนักพิมพ์ ฮาเช็ตต์อินเดีย รายงานข่าวว่า ท่านศิวะปรากาศ ผู้เขียน เรื่อง กูรู: สิบประตูสู่ภูมิปัญญาโบราณและจิตวิญญาณโบราณ เขาเกิดปี 1954 ที่ บังกาลอร์ หรือ เบงกาลูรู เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ ได้รับรางวัล Sahitya Akademi กับ Sangeet NatakAkademi อีกทั้งยังได้รับรางวัลสูงสุด จาก รัฐกรณาฏกะ ด้านวรรณกรรม และ การละคร เขาแตกฉานภาษาสันสกฤต 

ปราชญ์ท่านนี้จึงขยายนัยว่า คนทุกระดับทุกวัยในโลกใบนี้ มักจะลืมไปว่าตนคือ Guru ถ้าปฏิเสธว่าไม่ใช่แล้วทำไมสอนลูกได้ คำว่า Guru แปลกันนานานัยว่า หมายถึง ครู ปราชญ์ ผู้รู้ ผู้นำ ผู้ให้คำปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่ผิดสักคำ ยังมีอีกหนึ่งนัยที่เราอาจจะเพิ่งรู้ว่า “GU”

หมายถึง “ความมืด” และ “RU” แปลว่า “ผู้ทำลาย” “GURU” ตีความตามรากศัพท์ในภาษาสันสกฤตได้เลยว่า “กูรคือผู้ขจัดความมืดให้หายไป!”

รศ.สุขุม นวลสกุล กับ ผม จะไปบรรยายในหลักสูตรเดียวกันที่พัทยา ท่านกำชับผมว่า “ไม่ต้องเอารถของคุณไปหรอก คุณนั่งไปด้วยกันกับผมดีกว่า จะได้คุยเป็นเพื่อนแก้ง่วง” ผมนั่งรถเบนซ์จากบ้านท่านเพียงอึดใจยักษ์ จากสุทธิสารแล่นฉิวเลยบางนาไปเล็กน้อย ท่านก็งัดบุหรี่มวนแรกขึ้นมาสูบ ท่านเกรงว่าควันมันจะตลบอบอวล ก็ลดกระจกลงเพื่อระบายควัน 

ผมกลายเป็นลูกค้าที่ซื้อควันบุหรี่แล้วได้ควันจากท่อรถสิบล้อเป็นของแถม ท่านขับวิ่งยาวไปอีกราวๆ ยี่สิบกิโลก็งัดเอามวนที่สองขึ้นมาจุดพ่นควันไล่ยุงม้วนตัวอยู่ในรถ องค์จิ้งจกลงประทับผมอ้าปากทักฉับพลันว่า “ควันรมยังกะโรงสีเลยครับ!” ท่านฉุนกึ๊กจึงพูดเสียงดังสั้นสองคำว่า “ร-ถ-ผ-ม!” สิ้นเสียงฟ้าแล่บรถก็กลายเป็นกุฏิ เพราะมันเงียบสงัดเหมาะแก่การนั่งสมาธิ (ฮา)

ผมเล่าแล้วเล่าอีกว่า ปรมาจารย์ในนิกายเซน รู้ตัวว่ากำลังจะละสังขารจึงเรียกศิษย์คนโปรดให้รีบมารับคัมภีร์วิชาเซน ศิษย์ผู้นั้นรับแล้วก็เอาไปโยนใส่เตาไฟ ปรมาจารย์ตะโกนลั่นว่า “เฮ้ย! นั่นเอ็งทำอะไรวะ?” ศิษย์คนโปรดก็ก้มลงไปตะโกนกรอกหูท่านปรมาจารย์เช่นกันว่า “เฮ้ย! นั่นเอ็งทำอะไรวะ?” ปรมาจารย์ได้ยินเต็มสูบจิต ก็บรรลุเข้าสู่การปล่อยวางและสิ้นลมด้วยความปิติ

“ทัศนะ” คือ “ความเห็น” และ “คติ” คือ “เรื่องที่เป็นไป” ดังนั้น “ทัศนคติ” คือ ความคิดเห็นที่สรุปได้จากเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ ทัศนะ “ร-ถ-ผ-ม!” ช่วยให้บรรลุว่า “นั่งเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ!”

“โฉมหน้าพัฒนาแนวทางการศึกษาและเรียนรู้ในทุกวิชา” คือ“ทัศนคติ!”