คลอเดีย โกลดิน กับปัจจัยเบื้องหลังความเหลื่อมลํ้าของค่าจ้าง

07 ก.พ. 2567 | 11:29 น.

คลอเดีย โกลดิน กับปัจจัยเบื้องหลังความเหลื่อมลํ้าของค่าจ้าง : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,964 หน้า 5 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ 2567

ราชสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2023 ให้แก่ ศาสตราจารย์ คลอเดีย โกลดิน นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โกลดินเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้ ต่อจาก เอลินอร์ ออสตรอม ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ร่วมกันโอลิเวอร์ วิลเลียมสัน ในปี 2009 และ เอสเทอร์ ดูโฟล ที่เป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลร่วมกับ อภิจิต บาเนอร์จี และไมเคิล เครเมอร์ ในปี 2019

โกลดิน จึงเป็นผู้หญิงคนแรกที่ครองรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์โดยลำพัง จากการค้นพบปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเหลื่อมลํ้าระหว่างค่าแรงของชาย และหญิงอเมริกัน ผ่านผลงานการศึกษาประวัติศาสตร์ของตลาดแรงงานสตรี

 

งานชิ้นสำคัญของเธอได้แก่หนังสือชื่อ Career and Family : Women’s Century-Long Journey toward Equity  หนังสือเล่มนี้ติดตามการแสวงหาอาชีพและครอบครัวของผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 120 ปี

ชายและหญิงที่จบจากวิทยาลัย เริ่มต้นจากจุดยืนที่เกือบจะเท่าเทียมกัน พวกเขามีโอกาสคล้ายกันมาก แต่ทางเลือกที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดช่องว่างของค่าจ้างเพียงเล็กน้อยตอนเริ่มต้น

 

ช่องว่างของรายได้ดังกล่าวจะเริ่มกว้างขึ้นทันทีหลังแต่งงาน แต่อีกประมาณสิบปีหลังจาก เรียนจบวิทยาลัย ค่าจ้างชายและหญิงมีความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยการเปลี่ยนแปลงอย่างมากนี้มักเริ่มหลังจาก ที่ลูกเกิดมา ซึ่งมักจะส่งผลเสียต่ออาชีพการงานรวมถึงรายได้ของผู้หญิงในทางลบ

 

โกลดินจัดกลุ่มสตรีที่สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยเป็น 5 กลุ่มตามช่วงเวลาโดยใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อหาอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มของผู้หญิง กลุ่มแรก เป็นผู้หญิงที่เกิดประมาณปี 1878-1897 สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยในช่วงทศวรรษที่ 1890-1910 ผู้หญิงกลุ่มนี้ต้องเลือกระหว่างครอบครัวหรืออาชีพแบบที่เรียกว่า Family or Career ผู้หญิงในยุคนี้ประสบความสำเร็จ มีอาชีพแต่ไม่เคยแต่งงานและไม่มีลูก มีเพียงไม่กี่คนซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่สามารถทำงานเพื่อหาเงินและมีครอบครัวได้พร้อมกัน 

 

 

คลอเดีย โกลดิน กับปัจจัยเบื้องหลังความเหลื่อมลํ้าของค่าจ้าง

 

กลุ่มที่ 2 เกิดระหว่างปี 1898-1923 และ สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยระหว่างปี 1920-1945 ผู้หญิงกลุ่มนี้แต่งงานค่อนข้างช้า กลุ่ม 2 มีลักษณะร่วมที่โกลดิน ระบุว่า ได้งานแล้วจึงมีครอบครัวแบบที่เรียกว่า Job then Family

ผู้หญิงส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเคยทำงานมาระยะหนึ่งก่อนแต่งงาน ในที่สุดก็แต่งงานมีลูกและไม่ทำงานหลังจากแต่งงาน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ยังส่งผลให้เกิดจากการขยายนโยบายที่เข้มงวดรวมถึงการห้ามจ้างงานผู้หญิงที่แต่งงานแล้วที่เรียกว่า marriage bar

กลุ่ม 3 เกิดระหว่างปี 1924 ถึง 1943 กลุ่มนี้มีความเหมือนกันมากกว่าผู้หญิงในกลุ่มอื่นๆ ลักษณะเฉพาะของผู้หญิงกลุ่ม 3 เกิดขึ้น เพราะอุปสรรคในการจ้างงานหลายอย่างได้ถูกขจัดออกไป และเป็นเพราะกลุ่มนี้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยในช่วงปี 1946-1965 ที่กระแสของการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรส่งผลให้ชาวอเมริกัน แต่งงานเมื่ออายุน้อย และมีครอบครัวขนาดใหญ่

ส่วนใหญ่ของผู้หญิงกลุ่มนี้ ทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา แต่ผู้หญิงกลุ่มนี้จะออกจากตลาดแรงงานไป ในขณะที่มีลูกและเลี้ยงดูลูก และกลับมาทำงานเมื่อลูกโตขึ้น การหยุดชะงักในการทำงานและการให้ความลำดับความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับแรก ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่มีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการกลับเข้ามาตลาดแรงงาน กลุ่มนี้จึงมีลักษณะที่เรียกว่า Family then Job 

กลุ่มที่ 4 เกิดระหว่างปี 1944 ถึง 1957 สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 จนถึงปลายทศวรรษ 1970 เห็นได้ชัดว่า ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของรุ่นก่อน ว่าทักษะแรงงานมีความสำคัญไม่เพียงแต่สำหรับอาชีพการงานของตนเอง แต่ยังรวมถึงการดำรงชีพและลูกๆ ของพวกเธอ

ขณะที่การแต่งงานไม่ได้อยู่ตลอดไปอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต พวกเธอเลือกสาขาวิชาและเรียนต่อโดยมีเป้าหมายทางอาชีพที่ยั่งยืน และเข้าสู่เส้นทางอาชีพก่อนจึงมีครอบครัวในภายหลัง แบบที่เรียกว่า Career then Family ผู้หญิงนี้มีอุปกรณ์พิเศษที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซึ่งรุ่นก่อนไม่มีก็คือยาเม็ดคุมกำเนิด 

กลุ่มที่ 5 ได้แก่ ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 1958 ซึ่งจะสำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยประมาณปี 1980 ผู้หญิงกลุ่มนี้เรียนรู้จากความผิดพลาดของกลุ่ม 4 ว่าการเลื่อน การมีลูกออกไปเมื่ออายุมากขึ้นมักจะทำให้ไม่สามารถมีลูกได้

กลุ่มที่ 5 ยืนยันว่า อาชีพจะต้องไม่เข้ามาบดบังศักยภาพของการมีครอบครัวอีกต่อไป แม้ว่าจะยังคงชะลอการแต่งงานและการมีบุตร ทำให้การแต่งงาน และการมีลูกล่าช้า

แต่กลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น การผสมเทียมและการทำเด็กหลอดแก้ว กลุ่มที่ 5 มีความปรารถนาอย่างมากทั้งต่ออาชีพการงานและครอบครัวแบบที่เรียกว่า Career and Family

อุปสรรคที่สำคัญต่อความเท่าเทียมของรายได้ระหว่างเพศในสหรัฐอเมริกา ก็คือ งานที่ละโมบเวลาของคนทำงานที่เรียกว่า greedy work งานเหล่านั้นต้องการเวลา พลังงาน จำนวนมหาศาลจากคนทำงาน ทำให้พวกเขาไม่สามารถกำหนดเวลาทำงานเอง หรือ ยากที่จะปฏิเสธการทำงานพิเศษ ตารางงานที่มั่นคงและชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ที่ 40 ชั่วโมงจึงเป็นความความเพ้อฝันอันห่างไกล

โกลดิน อธิบายว่า greedy work ส่งผลให้หญิง และ ชาย ในครัวเรือนจะต้องแบ่งงานกันทำ ในขณะที่คนหนึ่งพร้อมรับสายจากที่ทำงานเสมอ เมื่อบริษัทต้องการ ส่วนอีกฝ่ายพร้อมที่จะรับภาระในบ้านแทน

คนที่เลือกงานจะสูญเสียเวลาอันมีค่าในการเลี้ยงลูก ขณะที่คนที่เลือกรับภาระในบ้านจะเผชิญกับค่าจ้างที่ตํ่ากว่า และความก้าวหน้าทางอาชีพที่น้อยกว่า

คำอธิบายดังกล่าว อาจเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมช่องว่างของค่าจ้างระหว่างหญิง และ ชาย ยังคงทรงตัว และไม่ลดลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับปรุงคุณสมบัติและตำแหน่งของสตรีก็ตาม

ในตอนท้าย โกลดิน เสนอตัวอย่างอาชีพซึ่งโครงสร้างการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไป และส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าวลดน้อยลง

เริ่มจากอาชีพเภสัชกรในร้านขายยา การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มเมื่อธุรกิจร้านขายยาเปลี่ยนจากธุรกิจอิสระ ที่มีเภสัชกรผู้ชายเป็นเจ้าของ ถูกเปลี่ยนเป็น chain ของบรรษัทใหญ่ๆ อย่าง CVS และ Walgreen’s

เภสัชกรส่วนใหญ่เลิกประกอบอาชีพอิสระ ขณะที่เภสัชกรที่ทำงานเป็นลูกจ้างให้กับบรรษัทเหล่านี้ สามารถเข้าถึงระบบการแบ่งปันความรู้ และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับยา และลูกค้า

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หมายความว่า เภสัชกร สามารถทดแทนกันได้ สามารถรับกะหรือรับช่วงต่อจากเภสัชกรคนก่อนหน้าที่สิ้นสุดการทำงานตามชั่วโมงตามปกติ 

โกลดิน มองว่า การทดแทนกันในหมู่คนทำงานเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างรูปแบบการทำงาน ที่ไม่ละโมบเวลาของแรงงาน ทั้งยังมีความยืดหยุ่น และไม่เน้นการลงโทษแรงงาน

แม้ว่าในบางอาชีพการทดแทนระดับนี้จะเป็นไปไม่ได้ ถึงกระนั้น โกลดิน ก็เห็นว่า สถานที่ทำงานทุกที่สามารถสร้างระบบที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล โดยไม่ต้องขอให้คนงานทำงานให้มากและนานขึ้น

งานของโกลดินมีข้อจำกัดที่ศึกษาเฉพาะผู้หญิง ที่มีการศึกษาในระดับวิทยาลัยขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบอยู่แล้ว

ถ้าการศึกษาดังกล่าวถูกขยายออกไปสู่ผู้หญิงกลุ่มอื่นๆ ปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญอาจจะแตกต่างออกไปจากนี้หรือไม่ เช่นเดียวกับที่บริบทที่โกลดินศึกษา คือ ผู้หญิงในโลกตะวันตกซึ่งอาจจะมีสถานะที่แตกต่างกับผู้หญิงในภูมิภาคอื่นๆ

แต่ข้อสังเกตของโกลดิน ก็เป็นแนวทางสำหรับการศึกษาปัญหาของผู้หญิงที่อยู่นอกชุดข้อมูลของเธอ และเป็นประโยชน์ที่จะนำมาอธิบายปัญหาช่องว่าง ระหว่างค่าจ้างของชายและหญิงในที่อื่นๆ

ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและอาชีพที่มีทั้งขัดแย้ง และส่งเสริมซึ่งกันและกันตามพลวัตของบริบทด้านต่างๆ ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป