JKN จบ...หมดความตื่นเต้น!

25 เม.ย. 2567 | 23:30 น.

JKN จบ...หมดความตื่นเต้น! : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,987

*** ราคาหุ้นของ JKN วิ่งชนซิลลิ่งต่อเนื่องกัน 2 วันซ้อน หลังจากวันที่ 23 เมษายน 2567 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ JKN (ลูกหนี้) ตามมาตรา 90/10 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย โดยศาลฯ กำหนดให้ผู้บริหารของ JKN เป็นผู้บริหารชั่วคราว และให้มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทําแผน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการเบื้องต้นที่ทาง JKN ได้ร้องขอเอาไว้

ทั้งนี้โดยคำสั่งของศาลฯ สิ่งที่ JKN ได้ตามต้องการก็คือ การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหากทำได้ดีก็จะนำมาซึ่งผลดีกับ ทั้งบริษัทเจ้าหนี้ทั้งหลาย รวมไปถึง JKN ในฐานของลูกหนี้ ขณะเดียวกันก็ใช่ว่า JKN จะได้ในสิ่งที่ร้องขอทั้งหมด 

 

โดยในส่วนของการขอเป็น “ผู้ทำแผน” ศาลฯ มีคำสั่งให้ “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่า บุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหนี้ของ JKN มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของการฟื้นฟูกิจการ 

ขณะเดียวกันคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ก็จะทำให้บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของ JKN ระงับลง...เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล ซึ่งก็ทำให้ JKN ไม่ต้องจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ซึ่งนั่นก็หมายความว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทซึ่งนำโดย “จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ก็จะไม่สามารถใช้อำนาจใดผ่านทางการถือหุ้นใหญ่นั่นเอง

เอาเป็นว่าจากนี้ไป เราก็คงจะต้องตามดูกันต่อไปว่า แผนฟื้นฟูของ JKN จะออกมาในรูปแบบใด ส่วนเรื่องของราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาแรงถึงตอนนี้ ก็อาจจะต้องทำใจ เพราะได้ผ่านช่วง “ฮันนีมูน” ไปแล้วนะคะ เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้แย่ลง...แต่ก็คงจะไม่ต่างไปจากที่เป็นอยู่แบบนี้อีกนาน ...เรื่องตื่นเต้นหมดไปแล้วค่ะ
 

*** หลังจากที่มีข่าวว่า บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ได้ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่14 ของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ก็ดูเหมือนว่าแนวทางธุรกิจที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทที่อยู่ในทุกระบบโครงสร้างพื้นฐานของ “สารัชถ์” มีความชัดเจนมากขึ้นมาทุกขณะ จากที่ก่อนหน้านี้ GULF มีธุรกิจใน 3 ส่วนหลักซึ่งประกอบไปด้วย 

1.ธุรกิจพลังงาน ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัทฯ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจก๊าซ 

2. ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทางด่วน หรือ ธุรกิจท่าเรือ

3. ธุรกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน INTUCH และ THCOM รวมไปถึงการทำธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ผ่านการจับมือกับ Singtel และ AIS  และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จับมือกับ Binance 

แม้การเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 14 อยู่ใน KBANK จะถูกประเมินว่า เป็นการลงทุนปกติในแบบที่ GULF ทำมาโดยตลอด แต่สำหรับเจ๊เมาธ์กลับมองว่า การลงทุนของ GULF ในครั้งนี้ อาจเป็นการ “กรุยทาง” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการ “รุก” เข้าไปสู่ธุรกิจการเงินที่เป็น Real Sector อย่างแท้จริง เหมือนกับที่ GULF เคยชิมลางในการเข้าไปถือหุ้นใน INTUCH ก่อนในท้ายที่สุด GULF จะได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างสมบูรณ์ก็เป็นได้ ของแบบนี้มันไม่แน่เจ้าค่ะ

*** ถึงแม้การลาออกจากทุกตำแหน่งของ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” รวมไปถึงการประกาศเพิ่มทุนครั้งใหญ่ของ SABUY จะทำให้ทุกอย่างของ SABUY ในอนคตอาจเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก แต่การที่ “ชูเกียรติ” โดยที่ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ยังมีหุ้นติดตัวอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ทำให้ราคาหุ้นของ SABUY อาจจะไม่สามารถปรับราคาขึ้นไปได้อย่างที่ควรจะเป็น 

อย่างแรกเป็นปัญหาอาการ “ถอดใจ” จนไม่อยากที่จะมีอนาคตอยู่กับ SABUY ก็ทำให้ “ชูเกียรติ” ทยอยขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง ซึ่งการขายหุ้นที่ว่านี้ ก็เป็นการกดราคาหุ้นของ SABUY จนไปไหนได้ไม่ไกล ไม่ต้องพูดให้ยืดยาว...ดูจากการขายหุ้นจำนวน 13 ล้านหุ้นออกมาเมื่อไม่กี่วันก่อนก็ได้ 

ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องข่าวลือที่มีออกมาว่า การถอยห่างออกจาก SABUY ของ “ชูเกียรติ” ไม่ได้เป็นไปอย่างเต็มใจอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากเป็นการ “ร้องขอแกมบังคับ” ให้ปล่อยมือ ซึ่งก็ไม่แน่ว่ากรณีนี้อาจทำให้เกิดการเอาคืนก็เป็นได้ใครจะรู้

เอาเป็นว่ามาถึงจุดนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนใหม่ หรือ กลุ่มทุนเดิม คงจะไม่มีใครถอย ดังนั้น ความคาดหวังของนักลงทุนที่คิดว่าราคาหุ้นของ SABUY จะได้ไปต่อได้อีก คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก รอคุยกันให้จบแล้วถึงตอนนั้นค่อยมาว่ากันอีกทีค่ะ

*** ถึงวันนี้ราคาหุ้นของ PTT ยังไปไหนได้ไม่ไกล แต่หากมองหุ้นบริษัทลูกของ PTT ลงไปเป็นรายตัว เจ๊เมาธ์กลับมองว่า สัญญาณดีๆ ของ PTT เริ่มดูดีกลับคืนมาแล้ว

โดยนักวิเคราะห์มองว่า ในส่วนของบริษัทลูกที่โดดเด่นกว่าใครอย่าง PTTEP ซึ่งมีการประมาณกำไรปกติปี 2567 เอาไว้ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท แม้จะลดลงไปบ้าง แต่การเป็นหุ้นพลังงานต้นน้ำ ที่ได้ประโยชน์จากภาวะสงครามทั่วโลก 

ขณะที่ PTTGC ก็คาดว่า ครึ่งหลังปี 2567 จะมีกำไรถึง 9,018 ล้านบาท เติบโต 803% จากปีก่อน

ส่วนทาง TOP คาดกำไรปี 2567 ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ลดลง 24% จากปีก่อน เนื่องจากการปิดซ่อมโรงกลั่น แต่คาดว่าในปี 68 และ 69 จะกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง 

ขณะที่ IRPC คาดผลการดำเนินงานสุทธิไตรมาส 1/67 จะพลิกกลับเป็นกำไรสุทธิราว 1.5 พันล้านบาท 

ด้าน GPSC จะได้ประโยชน์จากการลงทุนในอินเดียและการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศเพิ่มเติม ดังนั้น คาดปี 2567 มีกำไรสุทธิ 5,349 ล้านบาท เติบโต 44.80% จากปีก่อน

และทาง OR คาดกำไรปกติไตรมาส 1/67 ที่ระดับ 2,600-2,800 ล้านบาท ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนตามค่าการตลาดน้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัว

สรุปเอาง่ายๆ ก็คือเจ๊เมาธ์ยังมองว่าหุ้นตระกูล ป. ไม่ว่า  PTT PTTEP PTTGC TOP IRPC และ GPSC ยังคงดูดีอยู่นะคะ เก็บเอาไว้บ้าง...ไม่เสียหายค่ะ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,987 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567