นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯให้ความสำคัญในการติดตามและดูแลการประกอบกิจการของคนไทย และตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีคนไทย ยอมรับผลประโยชน์ หรือสมยอม หรือที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้หลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อให้คนต่างด้าวได้ประกอบการกิจการ ทำธุรกิจในไทย กรมฯเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการวางแผนและลงพื้นที่ตรวจสอบนิติบุคคลทุกปี
โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหาร สปา บริการรถทัวร์ โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ปีหนึ่งก็ประมาณ 100 รายที่ตรวจสอบ และเมื่อประเทศไทยมีการเปิดประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลาย เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจีน ดังนั้น เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ กรมฯจะให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบธุรกิจนอมินี
ทั้งนี้กรมฯจึงได้ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจนิติบุคคล ซึ่งให้ความสำคัญจังหวัดท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต รวมไปถึงพัทยาพร้อมทั้ง คัดกรองธุรกิจที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงด้วย ทั้งนี้ หากพบว่ามีพฤติกรรมที่น่าสงสัยก็จะเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกเพื่อหาข้อเท็จจริง หากพบกระทำผิดก็จะดำเนินคดีทันที
"กรมฯร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและคัดกรองธุรกิจที่เข้าข่าย หรือมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย กรมฯก็จะออกหนังสือให้ผู้ประกอบการชี้แจงข้อมูลการประกอบธุรกิจ การถือหุ้น ซึ่งกรมฯออกหนังสือไปประมาณ 500-600 ราย โดยไม่ได้เจาะจงสัญชาติ"
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการให้ข้อมูลครบถ้วนไม่มีประเด็นสงสัย กรมฯก็ไม่ได้ตรวจสอบเชิงลึกและปล่อยไป แต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจชี้แจงและให้ข้อมูลแล้วยังมีข้อสงสัย กรมฯจะตรวจสอบเชิงลึกทันทีและก็ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบ เพราะบางอย่างกรมฯก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบก็ต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล
นายจิตรกร กล่าวว่า กรมฯเข้าตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินี และมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อปีเฉลี่ย 100 ราย และเมื่อดูธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินี และมีความผิดพร้อมดำเนินคดีไปแล้ว นับจากปี 2558 จนถึงปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 66 ราย โดยการกระทำผิดนั่น คือ ถือหุ้นแทน ผลประโยชน์ไม่ได้ให้กับประเทศ ส่งผลเสียหายให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาส เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมฯต้องยอมรับว่าการตรวจสอบนิติบุคคล กรมฯสามารถดำเนินการได้ แต่หากเป็นกรณีการตรวจสอบการประกอบกิจการของบุคคลธรรมดาเป็นสิ่งที่ทำยาก การจะตรวจสอบนั้นต้องมีการแจ้งเบาะแส ว่าร้านค้า ร้านอาหารนั้น มีการเปิดโดยใช้คนไทย แต่แท้จริงแล้วเป็นของต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการ ซึ่งกรณีนี้ กรมฯก็จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดีเอสไอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะดำเนินการทันที อย่างไรก็ ยอมรับว่าปัญหามันมีช่องโหว่ โดยคนไทยยอมรับผลประโยชน์ โดยการให้ใช้ชื่อในการประกอบกิจการ ซึ่งก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ซึ่งกรมฯพร้อมติดตามดูแลเพื่อประโยชน์ของประเทศและผู้ประกอบการไทย
สำหรับสถิติการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2543 จนถึงเดือนธันวาคม 2565 มีการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจรวมทั้งสิ้น 13,915 ราย โดยเป็นการออกใบอนุญาต 6,279 ราย ออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 5,588 ราย และออกหนังสือรับรองตามสนธิสัญญา 2,048 ราย ทั้งนี้ คนต่างหน้าที่ได้รับใบอนุญาตและหนังสือรับรองมีการแจ้งเลิกประกอบกิจการและถูกเพิกถอนใบอนุญาต 3,509 รายและยังคงอยู่ 10,406 ราย