‘สรรพากร’เปิดท่อ ฟรีค่าธรรมเนียม ดึงรายเล็กร่วม Easy e-Receipt

10 ม.ค. 2567 | 21:45 น.

สรรพากร พร้อมอำนวยความสะดวกร้านค้ารายเล็กร่วม Easy e-Receipt ผ่านระบบ Time Stamp ฟรีค่าธรรมเนียม คาดร้านค้าเข้าร่วมกว่า 6,000 ราย ขณะที่มีเอกชน 19 ราย พร้อมให้บริการเป็นแพ็กเกจ เริ่ม 600 บาท/ 200 บิล อีกทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ

โครงการ Easy e-Receipt มาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้บริโภคภายในประเทศสำหรับช่วงต้นปี 2567 ซึ่งกำหนดค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567 พบว่ามีผู้ประกอบการห้าง ร้านค้า ร้านอาหาร สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการรายย่อยติดขัดเพราะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้นั้น

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ Easy e-Receipt แต่ไม่มีระบบรองรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถขอเข้าร่วมโครงการได้ โดยกรมสรรพากรมี e-Tax Invoice by e-mail และ e-Tax Invoice by Time Stamp ซึ่งร้านค้าที่อยู่ในระบบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) มีแค่มือถือ หรือแท็บเล็ตเครื่องเดียวก็สามารถทำได้เลย ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3-7 วัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมแบบข้อมูล เป็นไฟล์ตามที่กรมสรรพากรกำหนด เช่น PDF, PDF/A3, หรือ XML และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาสอบถามรายละเอียดที่กรมได้ ซึ่งการดำเนินการผ่านระบบดังกล่าว ไม่มีค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ

‘สรรพากร’เปิดท่อ ฟรีค่าธรรมเนียม ดึงรายเล็กร่วม Easy e-Receipt

“หากผู้ประกอบการไม่อยากใช้ระบบบริษัทเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและคิดค่าธรรมเนียมในการให้บริการ ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาใช้ระบบ e-Tax Invoice by Time Stamp กับกรมสรรพากรได้ อาจจะไม่ได้ครบจบในครั้งเดียว เพราะเป็นระบบที่ต้องมีไฟล์รับรอง เพื่อมาใช้ทดแทนกระดาษ แต่ยืนยันว่าระบบการจัดการจะยุ่งยากในครั้งแรกครั้งเดียว และไม่มีค่าธรรมเนียมในการใช้บริการอย่างแน่นอน”

              

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 5,600 ราย คิดเป็นจำนวนร้านค้ากว่า 1.4 แสนสาขา และคาดว่าภายในช่วง 2-3 วันนี้ จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 6,000 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอเข้าร่วมโครงการ

ส่วนขณะนี้มีบริษัทหลักทรัพย์บางแห่งได้ออกหนังสือเพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนมาลงทุนในหลักทรัพย์หรือหุ้นเพื่อใช้สิทธิ์ในมาตรการ Easy e-Receipt ของรัฐบาลได้นั้น ตามเงื่อนไขมาตรการดังกล่าว ผู้ซื้อหุ้นไม่สามารถนำรายจ่ายจากการซื้อหุ้นไปลดหย่อนภาษีได้ แต่สามารถนำรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้นไปลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจาก รายจ่ายการซื้อหุ้นได้รับยกเว้นภาษี ขณะที่รายจ่ายที่เป็นค่าธรรมเนียมจะต้องเสียภาษี Vat เข้าข่ายมาตรการ Easy e-Receipt

การซื้อขายหลักทรัพย์ จะมีค่าธรรมเนียม ในอัตรา 0.15 - 0.2% (ไม่รวมภาษี Vat) ขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทของหลักทรัพย์ ซึ่งค่าธรรมเนียมที่มี VAT นี้ นักลงทุนที่ประสงค์ใช้สิทธิตามมาตรการ สามารถใช้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุน ที่ทางบริษัทหลักทรัพย์ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้

ด้านตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง กล่าวว่า วันนี้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเข้าใจในระบบการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ 3 ช่องทาง คือ 1. ดำเนินการฟรีผ่านเว็บไซต์ด้วยตัวเอง 2. ดำเนินการผ่านตัวแทนในการให้บริการนำส่งข้อมูล และ 3. ร้านค้าหรือบริษัทลงทุนด้วยตนเองเพื่อเชื่อมระบบกับสรรพากรโดยตรง

ในส่วนแรกที่ดำเนินการฟรีผ่านเว็บไซต์ ผู้ประกอบการต้องไปกรอกรายละเอียดด้วยเองทั้งหมดเพราะมีเพียงแค่แบบฟอร์มเปล่า มีข้อกำหนดในการจำกัดจำนวนบิล หรือระบบติดขัดบ้าง และในรายละเอียดหากจำไม่ผิดส่วนมากจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม ที่สามารถกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มได้เลยว่าลูกค้าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พักและบริการ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดปลีกย่อยมากนัก

ถัดมาคือการดำเนินการผ่านตัวแทนให้บริการในประเทศไทยซึ่งมีอยู่จำนวน 19 บริษัท ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรมสรรพากร ให้สามารถรับรองเอกสารได้อย่างถูกต้อง และมี INET เป็นบริษัทเดียวที่สามารถรับรองเอกสารและนำส่งข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ส่งให้สรรพากร พร้อมกับส่งอีเมล์ให้ลูกค้าดูได้ด้วย

โดยผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าบริการเป็นรายเดือนในราคาเริ่มต้น 600 บาท/200 บิล หรือตามแพ็กเกจที่ตกลงกันไว้ และช่องทางสุดท้ายคือผู้ประกอบการร้านค้าหรือบริษัท ต้องลงทุนด้วยตนเองเพื่อเชื่อมระบบกับสรรพากรโดยตรง ราคาเริ่มต้นในการเซ็ตอัพระบบประมาณ 2 แสนบาท

“ที่จริงทั้ง 3 ช่องทางเป็นนโยบายของกรมสรรพากรที่ต้องการดึงร้านค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้เข้ามาอยู่ในระบบ และ INET ก็สามารถรับรองเอกสารและส่งข้อมูลให้ได้ ขณะเดียวกันก็มี NETbay ที่นำส่งเอกสารให้ได้เช่นกันแต่รับรองไม่ได้ กลุ่มผู้ใช้บริการจะต้องสมัครใช้บริการบริษัทที่สามารถรับรองเอกสารด้วย ซึ่ง INET และ NETbay เป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งคู่”

ทั้งนี้การใช้บริการฟรีผ่านเว็บไซต์ไม่เหมาะกับผู้ประกอบการรายกลางจนถึงรายใหญ่ และการระบุรายละเอียดสินค้าที่ลูกค้าซื้อในร้านค้าปลีก-ค้าส่ง หรือห้างสรรพสินค้าต้องลงรายละเอียดพอสมควร ฉะนั้นน่าจะเหมาะกับ SMEs รายเล็กมากกว่า ส่วนการใช้บริการ INET หรือบริษัท Outsource อื่นๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก