เปิดเแผนขับเคลื่อน "อุตสาหกรรมฮาลาล" สู่ฮับภูมิภาค ดันจีดีพีโต 1.5% ใน 5 ปี

27 ก.พ. 2567 | 09:39 น.

เปิดเแผนขับเคลื่อน "อุตสาหกรรมฮาลาล" สู่ฮับภูมิภาค ดันจีดีพีโต 1.5% ใน 5 ปี พิมพ์ภัทราเผยล่าสุด ครม. รับทราบแนวทาง เชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ กระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในทุกพื้นที่

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571 

และมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ตามแนวทางดังกล่าว ประกอบด้วย การแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทย (ด้านฮาลาล) การจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) 

โดยให้นำเรื่องการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยและกรอบการดำเนินงานของศูนย์ฯ เสนอสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณา รวมทั้ง ให้นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567 - 2571) เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตามขั้นตอนต่อไป 

ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าจีดีพี (GDP) ภาคอุตสาหกรรมได้กว่า 1.2% ใน 5 ปี พร้อมสร้างงานสร้างอาชีพ กระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในทุกพื้นที่ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

เปิดเแผนขับเคลื่อน "อุตสาหกรรมฮาลาล" สู่ฮับภูมิภาค ดันจีดีพีโต 1.5% ใน 5 ปี

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 7.5% ต่อปี จนถึงปี 2567 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด 

ซึ่งคาดว่าในปี 2567 การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5% โดยในส่วนของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7.1% 

สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) จำนวน 216,698 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาล โดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ และมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มสัดส่วนการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูงได้อีกมาก เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย และประเทศบรูไน เป็นต้น
 

โดยประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารฮาลาลสำคัญของโลก โดยมีมูลค่านำเข้าในปี 2565 สูงถึง 22,571 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 4.2% และเป็นแหล่งกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศกลุ่มตะวันออกกลางอื่น ๆ ได้แก่ คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์ และบาห์เรน 

ด้านประเทศบรูไน เป็นอีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่มีศักยภาพและมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการฮาลาลไทยในการขยายตลาดเพิ่มขึ้นได้อีกมาก โดยมีมูลค่านำเข้าสินค้าฮาลาลรวม 580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราเติบโต 7.8%  

นางสาวพิมพ์ภัทรา ยังได้กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดยผ่าน 3 กลไกหลัก ประกอบด้วย  

  • การจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยทั้งระบบ และใช้เป็นกรอบในการบูรณาการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลกับแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแฟชั่น และการท่องเที่ยว รวมทั้ง อุตสาหกรรม       soft power สาขาต่าง ๆ โดยขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาตามลำดับต่อไป
  • การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว และแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทย (ด้านฮาลาล) หรือมอบหมายผู้แทนการค้าไทยท่านใดท่านหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของศูนย์ โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ โดยมีภารกิจครอบคลุมด้านการขยายตลาดสินค้าฮาลาลไทยไปทั่วโลก และยกระดับการผลิตและมาตรฐาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย รวมทั้งบูรณาการงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาที่เกี่ยวข้องในเรื่องฮาลาล ซึ่งกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งบูรณาการงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาที่เกี่ยวข้องในเรื่องฮาลาล ซึ่งกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กระทรวงพาณิชย์ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) กระทรวงการต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ หลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเรื่องการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยและกรอบการดำเนินงานของศูนย์ฯ เสนอสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณา โดยจะมีการประเมินผลการดำเนินงานในระยะ 1 ปีแรก เพื่อปรับบทบาทหน่วยงานตามความเหมาะสมในระยะต่อไป 
  • การแต่งตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน และมีองค์ประกอบของคณะกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาลโดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft power ของไทย และส่งเสริมการผลิตสินค้าฮาลาล การจำหน่ายในประเทศ การส่งออก รวมทั้งบูรณาการมาตรการ แผนงาน และงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดทำคำของบประมาณเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าวในปี 2567 จำนวน 95 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ โดยในระยะแรกจะเน้นการสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของสินค้าฮาลาลไทย และการขยายตลาดสินค้าฮาลาลไทยไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยการจัดทำ MoU ในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย กรอบความร่วมมืออินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และกรอบความร่วมมือไทย-บรูไน เป็นต้น 

รวมทั้งมีกำหนดจัดงาน Kick off เปิดตัวกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนที่วางไว้ได้ประมาณเดือนเมษายน 2567 โดยจะมีการเชิญเชฟอาหาร  ที่มีชื่อเสียงรังสรรค์เมนูอาหารฮาลาลที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย พร้อมเชิญ Influencer และทูตจากนานาประเทศเข้าร่วมงาน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้อาหารฮาลาลไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล รวมทั้ง จัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยที่มีศักยภาพพร้อมส่งออกนำเสนอโปรโมทสินค้า เพื่อเป็นการเปิดตลาดสินค้าฮาลาลไทยสู่สากล