ทางเท้าอันตราย คนกรุงเทพฯ ประสบอุบัติเหตุ 915 รายต่อปี

06 พ.ค. 2567 | 02:14 น.

กรุงเทพมหานคร เผยคนเดินเท้าในเมืองหลวงประสบอุบัติเหตุปีละ 915 ราย (เฉพาะที่มีการแจ้งเหตุ) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมยังโดนร้องเรียนเรื่องปัญหาทางเท้า อ่วม

กรุงเทพมหานคร  เร่งรณรงค์และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนทางเท้า ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบ และมีกฎหมายรองรับให้จัดการผู้กระทำผิดได้

 

รายงานเปิดเผยว่า คนเดินเท้าทั่วประเทศไทย ประสบอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,490 ราย ส่วนคนเดินเท้าใน กทม. โดนไป 915 รายต่อปี (เฉพาะที่มีการแจ้งเหตุ) ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ทางเท้าอันตราย คนกรุงเทพฯ ประสบอุบัติเหตุ 915 รายต่อปี

โดยสาเหตุหลักของเหตุการณ์เหล่านี้ มาจากพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจร ทั้งการขับรถบนทางเท้าแล้วเกิดการชนคนที่ทำให้คนได้รับบาดเจ็บถือเป็นความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และมาตรา 157 ร่วมกับมาตรา 390 ของประมวลกฎหมายอาญา

 

การกระทำเช่นนี้มีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับไปตามความผิด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายในกรณีนี้

 

นอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว กทม. ยังมีแผนปรับปรุงทางเท้าใหม่ ให้ทุกคนสามารถเดินได้จริง หลังจากได้รับการร้องเรียนเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของเมือง

กรุงเทพมหานคร เตรียมแผนปรับปรุงทางเท้าใหม่ ดังนี้

  • ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า เป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร
  • ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้าออกอาคารหรือซอยต่าง ๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร
  • เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร

ทางเท้าอันตราย คนกรุงเทพฯ ประสบอุบัติเหตุ 915 รายต่อปี

  • ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่อง สะดวกสบาย
  • ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล
  • เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย.
  • เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ
  • วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า.
  • วางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา.
  • ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น