สุดคึกคัก! สัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 52 ดันมูลค่าตลาดพุ่ง 1.7 หมื่นล้าน

28 มี.ค. 2567 | 20:20 น.

"PUBAT" จัดเต็ม “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22” จาก 322 สำนักพิมพ์ พร้อมนิทรรศการและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจซื้อขายลิขสิทธิ์จาก 14 ประเทศ คาดเงินสะพัด 400 ล้าน ดันมูลค่าตลาดพุ่ง 1.7 หมื่นล้าน

นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า ในวันแรกของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ที่จัดระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2567 ถึง 8 เมษายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ธีมงาน "Booklympics" ต้อนรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ได้รับความสนใจจากผู้อ่านเข้าร่วมงานจำนวนมาก ส่งผลให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก คาดว่าจะมีนักอ่านเข้าร่วมงานตลอดทั้ง 12 วัน 1.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงินสะพัด 400 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าตลาดหนังสือไทยในปี 2567 พุ่งขึ้นแตะ 1.7 หมื่นล้านบาท

สุดคึกคัก! สัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 52 ดันมูลค่าตลาดพุ่ง 1.7 หมื่นล้าน

โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดหนังสือมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% ซึ่งเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ เห็นได้จากการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงาน 1.14 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้น 60% และมียอดขายกว่า 350 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 75% และจากความพร้อมในการจัดงานงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ในปีนี้ ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 52 ทั้งความร่วมมือจากสำนักพิมพ์และร้านหนังสือที่ต่างนำเสนอปกใหม่ รวมกิจกรรมต่างๆ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% และมียอดขายเติบโตขึ้น 20-25% 

สำหรับโซนหนังสือออกเป็น 7 หมวด ได้แก่ 1. หนังสือนิยายและวรรณกรรม 2.หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น (Book Wonderland) 3.หนังสือเด็กและการศึกษา 4. หนังสือต่างประเทศ 5. หนังสือทั่วไป 6. หนังสือเก่า และ 7. Non – Book  รวมกว่า 1 ล้านเล่มแล้ว ยังมีการเปิดตัวหนังสือปกใหม่จากสำนักพิมพ์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ปกต่อสำนักพิมพ์ พร้อมโปรโมชั่นส่วนลดสูงสุด 80% บริการจัดส่งหนังสือถึงบ้าน รวมทั้งการสั่งจองและสั่งซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักอ่านทั่วโลก 

สุดคึกคัก! สัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 52 ดันมูลค่าตลาดพุ่ง 1.7 หมื่นล้าน

อีกหนึ่งไฮไลท์ของสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 หรือ Bangkok International Book Fair คือ มีสำนักพิมพ์ชั้นนำระดับโลกเข้าร่วมออกบูธจาก 9 ประเทศ 11 บริษัท รวม 18 บูธ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ยูเครน ฯลฯ โดยมานำเสนอหนังสือและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ ซึ่งครอบคลุมเทคโนโลยีการพิมพ์ วัฒนธรรม และการเรียนการสอนภาษาต่างๆ และเป็นครั้งแรก! ในประเทศไทย ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) TCEB กับการจัดงาน "Bangkok Rights Fair" ซื้อขายแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์หนังสือ จับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสำนักพิมพ์ไทยและตัวแทนจำหน่าย (เอเจนซี) จากต่างประเทศ 

ในรูปแบบ Business to Business (B2B) โดยมีตัวแทนจาก 34 บริษัท/ตัวแทนต่างชาติ จาก 14 ประเทศ และ 53 สำนักพิมพ์/ตัวแทนจำหน่าย (เอเจนซี) ประเทศไทย เข้าร่วมเจรจา อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย สหราชอาณาจักร อินเดีย ฯลฯ ระหว่าง 28-30 มีนาคม 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 350 ล้านบาท

นายสุวิช กล่าวอีกว่า การจัดงาน Bangkok Rights Fair ซื้อขายแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์หนังสือ หรือทำ Business Matching ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักพิมพ์ไทยจะได้มีโอกาสพบปะกับตัวแทนจำหน่าย หรือเอเจนซี จากต่างประเทศ  ที่จะพูดคุยนำเสนอลิขสิทธิ์หนังสือของไทย เพื่อนำไปแปลและจัดพิมพ์เป็นหนังสือภาษาต่างๆ ทั่วโลก  รวมถึงผลิตในรูปแบบของซีรีส์  ภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาผลงานนักเขียนของไทยได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มอาเซียน และการเปิดให้เจรจาธุรกิจในครั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์และผู้ประกอบการทั่วโลก ถือเป็นโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการไทยได้ก้าวสู่วงการหนังสือระดับโลกด้วย

สุดคึกคัก! สัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 52 ดันมูลค่าตลาดพุ่ง 1.7 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ การผลักดันให้ “หนังสือ” ให้เป็น Soft Power ถือเป็นการยกระดับคุณภาพผลงานของนักเขียนไทย  และยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ ยังร่วมนำเสนอ Soft Power ของไทยผ่าน นิทรรศการ “สงกรานต์ พราวเวอร์” (Proud Songkran) ที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเทศกาลที่มีความสำคัญและทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของไทย  เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก และเทศกาล “สงกรานต์ไทย” ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากองค์การยูเนสโกเมื่อปลายปี 2566 ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ในงานนิทรรศการ