นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS (Thailand Center of Excellence for Life Sciences) เปิดเผยว่า TCELS ได้ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรพัฒนาหลักสูตรผู้นำธุรกิจแห่งอนาคต New S Curve เพื่อการระดมทุน ภายใต้โปรแกรม LiVE Platform ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใต้โครงการ New S Curve to Capital Market
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการในธุรกิจ Life Sciences กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ เช่น ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่นยืน
สำหรับหลักสูตรผู้นำธุรกิจแห่งอนาคต New S Curve เพื่อการระดมทุน (New S Curve to Capital Market) จัดขึ้นโดยตลท. และหน่วยงานพันธมิตร TCELS ,สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และ KPMG Thailand เพื่อส่งเสริมและผลักดันธุรกิจ SMEs และ Startups ในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต New S Curve ให้มีความพร้อมและมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET, MAI และ LIVEx
สามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจให้แข็งแกร่ง เตรียมระบบงานที่สำคัญให้มีความพร้อม เช่น การบริหารจัดการ บัญชีและการเงิน ระบบควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง เพื่อสร้างโอกาสในการระดมทุนผ่าน LiVEx ได้อย่างมีคุณภาพ
นางสาวไปยดา กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ หรือ Life Science มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ TCELS ได้รับหน้าที่สำคัญในการสนับสนุน ขับเคลื่อน และยกระดับนวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริการในอุตสาหกรรม
รวมทั้งพัฒนาส่งเสริมระบบนิเวศให้สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมได้ ด้วยลักษณะของอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน TCELS จึงมุ่งมั่นที่จะเสริมองค์ความรู้ และทักษะเชิงเทคนิค รวมถึงหลักปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับที่ผู้ประกอบการควรรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริการ
ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจธุรกิจเทคโนโลยีชีววิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล ซึ่งอุตสาหกรรมในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งในวันนี้และอนาคต เช่น ยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ