วันนี้ (7 มีนาคม 2567) ณ CityCube กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในงาน The Amazing Thailand Networking Event with the Prime Minister of Thailand ซึ่งจัดขึ้นภายใต้งาน ITB Berlin 2024 โดยได้แสดงวิสัยทัศน์และแถลงนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของไทยในระดับภูมิภาค
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการร่วมงานวันนี้เป็นโอกาสดี สร้างความเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนความเห็น พร้อมพิจารณาถึงศักยภาพในการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2567 อยู่ที่กว่า 9 หมื่นล้านยูโร คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ 5.9 หมื่นล้านยูโร โดยคาดหวังนักท่องเที่ยวจากยุโรป 8.5 ล้านคน คิดเป็นรายได้อยู่ที่กว่า 1.7 หมื่นล้านยูโร
ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นความสำคัญของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้เกิดการจ้างงานในประชากรส่วนใหญ่ โดยรัฐบาลวางแผนยกระดับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ผ่านมาตรการสำคัญ ดังนี้
1. การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง (Ease of Travelling) โดยรัฐบาลได้ยกเว้นวีซ่าชั่วคราวสำหรับอินเดีย รัสเซีย คาซัคสถาน และไต้หวัน พร้อมทั้งได้ลงนามความตกลงยกเว้นวีซ่าถาวรระหว่างไทยกับจีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังหารือความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงในลักษณะดังกล่าวสำหรับวีซ่าประเทศในกลุ่มเชงเก็น รวมถึงการจัดทำความตกลง “One Visa, Free your Destination” ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อลดความยุ่งยากในการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างกัน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค
2. การส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง (Secondary destinations) ประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่รอให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสอีกหลายสถานที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบปะประชาชนทั่วประเทศ และเห็นถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ และมีเสน่ห์เฉพาะตัว และยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก รัฐบาลจึงได้วางแนวทางส่งเสริมคุณค่าและเอกลักษณ์ที่ดีงามเหล่านี้ พร้อมผลักดันให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว สร้างประสบการณ์ในรูปแบบใหม่
3. การปรับปรุงกฎระเบียบสำหรับสถานบันเทิง เช่น การขยายเวลาเปิด-ปิด สถานบันเทิงในพื้นที่สำคัญ การผ่อนคลายกฎระเบียบการขายและการลดภาษีสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
4. การใช้ประโยชน์จาก “Soft Power” ของไทย เป็นจุดขายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์และมีความพิเศษ น่าจดใจ โดยการใช้ประโยชน์จากเทศกาลที่มีเอกลักษณ์และสวยงาม เพื่อทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของเทศกาลระดับโลก โดยนักท่องเที่ยวอาจรู้จักเทศกาล “สงกรานต์” ของไทย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก และยังมีเทศกาลอื่นอีกมากที่รอให้ทุกคนได้ค้นพบ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เตรียมสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม และได้ติดต่อผู้จัดงานเทศกาล คอนเสิร์ต และกิจกรรมระดับนานาชาติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่า ประเทศไทยมีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นอยู่เสมอ
5. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ที่จะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในทศวรรษนี้
โดยการวางแผนสร้าง ปรับปรุง และขยาย สนามบิน โดยสร้างสนามบินนานาชาติล้านนา (Lanna International Airport) ซึ่งจะเป็นสนามบินแห่งที่สองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คึกคักสำหรับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือ ขณะที่สนามบินนานาชาติอันดามัน (Andaman International Airport) ในจังหวัดพังงา จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบินเชื่อมเส้นทางระยะไกลในภาคใต้ของประเทศไทย
เมื่อแล้วเสร็จ สนามบินทั้งสองแห่งนี้จะสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้สูงสุดถึง 40 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนการปรับปรุงและการขยายสนามบินเดิมทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และในพื้นที่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักด้วย
รวมทั้งการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินให้เต็มศักยภาพการรองรับ ไทยกำลังทำงานร่วมกับสายการบินพันธมิตร ควบคู่ไปกับการยกระดับการบริการและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเส้นทางใหม่สู่ประเทศไทย ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจุดต้นทางมากขึ้นไปยังจุดหมายปลายทางทั่วประเทศและภูมิภาคที่กว้างขึ้น
โดยในต้นเดือนหน้านี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะจัดงาน “Air-mazing Thailand: The Amazing Airlines Fam Trip” ซึ่งงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านการบินที่กว้างไกลของประเทศไทย นอกเหนือจากศูนย์กลางที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ และศักยภาพอันยิ่งใหญ่ เพื่อเชื่อมโยงการบินในภูมิภาค